หลายคนอาจจะเคยได้ยินโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปลูกผักกันมามาก ยิ่งเป็นเรื่องการปลูกผักกลางเมืองใหญ่ซึ่งมีราคาที่ดินแพงลิบด้วยแล้ว จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า อะไรทำให้เจ้าของพื้นที่เหล่านั้นเลือกปลูกผักบนดาดฟ้า รวมถึงมีวิธีการจัดการอย่างไรทำให้การปลูกผักกลายเป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงแปลงผักกลางกรุงในชุมชนดินแดงว่า โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแนวทางเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ นั่นคือ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสุขภาวะโดยฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง 1 (ชุมชนดินแดง) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่มเกษตรอาสาพอเพียง เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่ “แปลงผักชั้นดาดฟ้าอาคารแปลง G” ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน และนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคี ความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน โดยคณะกรรมการมีด้วยกัน 7 คน และมีวาระ2 ปี ทำหน้าที่ทั้งประสานงาน ดำเนินการ และเชิญชวนผู้อยู่อาศัยเข้าร่วมเป็นสมาชิกและทำกิจกรรมของกลุ่ม รวมถึงประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกลุ่มให้ผู้อยู่อาศัยได้รับทราบ
“แปลงผักชั้นดาดฟ้าอาคารแปลง G” นอกจากจะเป็นการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับชุมชน ยังเป็นแปลงสาธิตในการปลูกพืชผักสวนครัวบนอาคารสูง มีการแจกจ่ายผลผลิตให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชน รวมถึงสร้างความรัก ความสามัคคี ความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน และยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งสร้างความอบอุ่นให้เกิดขึ้นในครอบครัวอีกด้วย
กลุ่มเกษตรอาสาพอเพียงได้รับ เมล็ดพันธุ์พระราชทาน มีทั้งหมด 10 ชนิด มาปลูกในพื้นที่ ได้แก่ มะเขือเจ้าพระยาแตงกวา ถั่วฝักยาว บวบเหลี่ยม ถั่วพู ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1 ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์ พริกขี้หนูพื้นบ้าน ฟักทอง และฟักแฟง โดยใช้พื้นที่ในการปลูกประมาณ 600 ตร.ม. นอกจากนั้นแล้วในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีการใช้พื้นที่บริเวณดาดฟ้าและวงเวียนของอาคารปลูกต้นฟ้าทะลายโจรแจกจ่ายให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนดินแดงอีกด้วย
ปัจจุบันกลุ่มเกษตรอาสาพอเพียง มีคณะกรรมการจำนวน 7 คน สมาชิกกลุ่มฯ จำนวน 44 คน โดยในปีแรกที่ได้ผลผลิตออกมาเช่น ใบกะเพรา ใบโหระพา ใบเตย มะนาว ฯลฯ ได้นำมาแบ่งปันและแจกจ่ายกันภายในชุมชน ในปีที่ 2 ผลผลิตที่ได้ เช่น กระเจี๊ยบ พริก ผักคะน้า ตะไคร้ ฯลฯ เริ่มจำหน่ายผลผลิตให้กับผู้อยู่อาศัยและร้านค้าในชุมชน ซึ่งรายได้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 60% เป็นค่าแรงให้กับสมาชิกของกลุ่มฯ ที่มาร่วมกิจกรรม ส่วนที่ 2 อีก 40% นำมาจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และอุปกรณ์การเกษตร เพื่อเพาะปลูกครั้งต่อไป สำหรับรายได้ที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะนำมาเก็บสะสมในบัญชีธนาคารของกลุ่มเกษตรอาสาฯ เพื่อนำไปต่อยอดในการซื้อเมล็ดพันธุ์ครั้งต่อไป
“การเคหะแห่งชาติยังคงเดินหน้าในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในทุกมิติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เน้นย้ำมาโดยตลอดกลุ่มเกษตรอาสาพอเพียงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้อยู่อาศัย โดยมีการเคหะแห่งชาติร่วมส่งเสริมการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของผู้อยู่อาศัย และหวังให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนอย่างยั่งยืน” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าว