การเคหะฯ เดินหน้าต่อเนื่อง “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2” แปลง D (อาคาร D1)

เป็นที่ทราบดีว่าโครงการเคหะชุมชนแห่งแรก คือ “เคหะชุมชนดินแดง” เรียกกันอย่างคุ้นชินว่า “แฟลตดินแดง” ซึ่งเริ่มสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ถึงวันนี้อาคารแฟลตดินแดงชุดแรกอายุเกือบ 60 ปี มีผู้อยู่อาศัยรวมกันทั้งโครงการเกือบหนึ่งหมื่นหน่วย จึงเป็นที่มาของ “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง”

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” ตั้งอยู่บริเวณแขวงดินแดง เขตดินแดง ขนาดพื้นที่ 157 ไร่ อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของการเคหะแห่งชาติยุทธศาสตร์ที่ 3 “การฟื้นฟูชุมชนเมือง พัฒนาเมืองใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบในหลักการแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559-2567) แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ โดยเป็นการพัฒนาโครงการรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจำนวน 6,546 หน่วย และการพัฒนาโครงการรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่จำนวน 13,746 หน่วย รวมทั้งสิ้น 20,292 หน่วย

โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 แปลง D (อาคาร D1) เป็นอาคารพักอาศัยสูง 35 ชั้น จำนวน 612 หน่วย เป็นอาคารที่พักอาศัยที่ออกแบบกำหนดให้โถงและทางเดินภายในอาคารสามารถระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ และแสงธรรมชาติเข้าถึงได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ระบบระบายอากาศที่ใช้ไฟฟ้าและไฟแสงสว่างซึ่งจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้แก่ผู้อยู่อาศัย จากแนวคิดการออกแบบด้านการระบายอากาศและการให้แสงสว่างดังกล่าว ทำให้อาคารพักอาศัยแปลง D1 ได้ผ่านการตรวจประเมินแบบอาคารเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือขนาดของอาคารและมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552

การก่อสร้างอาคารพักอาศัยแปลง D (อาคาร D1) เริ่มในเดือนกันยายน 2564 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม2566 โดยล่าสุดได้มีการประชุมหารือเตรียมความพร้อมในการดำเนินการ (Kick off) โครงการอาคารพักอาศัยแปลง D (อาคาร D1) โดยมีประเด็นหารือทั้งการวางแผนการดำเนินโครงการ ปัญหา และอุปสรรค เช่น การวางผัง การเจาะเข็ม การทิ้งมูลดิน การขออนุมัติวัสดุก่อนดำเนินการ และการป้องกันผลกระทบจากการก่อสร้างตามมาตรการ EIA เพื่อลดการร้องเรียนจากผู้พักอาศัยโดยรอบ ทั้งนี้ได้เริ่มดำเนินการเตรียมแผนงานในส่วนของฐานรากและโครงสร้างใต้ดิน

การดำเนินการทิ้งมูลดินจากการดำเนินการในส่วนฐานรากและโครงสร้างใต้ดิน ได้ประสานกรมธนารักษ์เพื่อขอรายชื่อหน่วยงานที่ขอรับบริจาคมูลดิน ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้เลือกกองทัพอากาศเป็นสถานที่ทิ้งมูลดิน เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ใกล้พื้นที่ชุมชนดินแดงมากที่สุด มีความประสงค์รับมูลดินเป็นจำนวนมาก และอยู่ภายในระยะขนย้ายไม่เกิน 20 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการขนมูลดินในเดือนธันวาคม 2564 และคาดว่าจะทิ้งมูลดินได้แล้วเสร็จทั้งหมดประมาณกลางปี 2565 รวมปริมาณมูลดิน 16,590 ลบ.ม. โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมธนารักษ์และกองทัพอากาศ

ขณะที่การดำเนินงานตามมาตรการ EIA เพื่อลดการร้องเรียนจากผู้พักอาศัยโดยรอบ จากการลงพื้นที่ของฝ่ายสิ่งแวดล้อมวิศวกรรมสำรวจ และทดสอบวัสดุ ร่วมกับ บริษัทไมน์เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ระยะก่อสร้าง) ตามที่ระบุไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในเดือนธันวาคม 2564 พบว่าผลการตรวจวัดระดับเสียง ความสั่นสะเทือนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และผลตรวจวัดฝุ่นละอองรวม (TSP) ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) และตรวจวัดสารมลพิษ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งโครงการได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการของระยะก่อสร้างอย่างครบถ้วน

“ถึงแม้ว่าโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงจะไม่มีผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน แต่จะเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประชาชนที่อาศัยในชุมชนดินแดงมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย ตัวอาคารมั่นคงและแข็งแรงขึ้น เพิ่มพื้นที่นันทนาการ พื้นที่เปิดโล่ง สวนสาธารณะ และร้านค้า ชุมชนให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนดินแดงได้มีแหล่งประกอบอาชีพเพราะมีการจัดพื้นที่สำหรับเป็นส่วนบริการชุมชนในพื้นที่รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม และพื้นที่เชิงพาณิชย์ในการพัฒนาพื้นที่รองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการนำชุมชนดินแดงไปสู่การเป็น Din-Daeng Smart City ต่อไปในอนาคต” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวย้ำ