มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนาออนไลน์การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงหลังยุคโควิด ในหัวข้อ “The Post-Pandemic of Mekong Development : How U.S. synergizes with Partners in the Sub-Region?” ผ่านระบบ Zoom ซึ่ง รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น Mr. Kevin McCown, Political Officer ตัวแทนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา และ ผศ. อนุชา จินตกานนท์ รักษาการนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ร่วมเป็นเกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์จากภาครัฐและเอกชนกว่า 100 คน
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในพิธีเปิดว่า “แม่น้ำโขงเชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วยกัน นับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เชื่อมต่อสำคัญ ไม่เพียงแต่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง แต่รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่ต้องพึ่งพาโครงข่ายถนน ราง เรือ เพื่อเดินทางและขนส่งสินค้า หลายทศวรรษที่ผ่านมา ทรัพยากรมหาศาล รอบลำโขง ดึงดูดประเทศต่าง ๆ ให้เข้ามาร่วมลงทุนและพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การพัฒนาทางกายภาพอย่างเดียว แต่รวมไปถึงมิติด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนตามลุ่มแม่น้ำโขง”
“การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีประเทศภายนอก ลุ่มแม่น้ำโขงจำนวนมากเข้ามาตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อช่วยให้สมาชิกของประเทศลุ่มน้ำโขงใช้พัฒนาขีดความสามารถด้านทรัพยากรมนุษย์ เช่น การพัฒนาดิจิทัล การส่งเสริมการค้าการลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าชายแดน การบริหารจัดการน้ำ การสร้างความเชื่อมโยง และการพัฒนาที่ยั่งยืน”
“การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้มิติการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงยิ่งซับซ้อนและท้าทายมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยในฐานะข้อต่อและประเทศสมาชิกที่สำคัญของลุ่มแม่น้ำโขง การวางแผนจะเดินหน้าความร่วมมือไปทางไหน และจะมีบทบาทอย่างไรต่อการพัฒนากรอบความร่วมมือมิติต่าง ๆ ในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงหลังยุคโควิด-19 ในอนาคต จะเป็นไปอย่างไร งานสัมมนาออนไลน์การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงหลังยุคโควิดในวันนี้ จึงเป็นเวทีการเสวนาที่สำคัญเรื่องแนวคิดความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง อย่างเป็นรูปธรรม” รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวในที่สุด