นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวถึงการสนับสนุนความร่วมมือในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแนวทางปฏิบัติทั้งก่อนและหลังเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่ผู้ปกครองและเด็กอายุระหว่าง 5 – 11 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการประเมินอาการของเด็กที่มีโรคประจำตัวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา ได้จัดทำคลิปวิดีโอเกี่ยวกับแนวทางการเตรียมตัวก่อนและหลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยให้นักเรียนที่ประสงค์เข้ารับการฉีดวัคซีนปฏิบัติตน ดังนี้ (1) ก่อนฉีดวัคซีนประมาณ 2 วัน ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ (2) งดการออกกำลังกายหนักอย่างหนัก (3) ดื่มน้ำอย่างน้อย 3-5 แก้ว และงดการดื่มชา กาแฟ หรือน้ำอดลม (4) เลือกฉีดวัคซีนที่ต้นแขนข้างที่ไม่ถนัด (5) หากฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาแล้ว ต้องเว้นช่วงการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เดือน (6) หลังได้รับวัคซีน ให้รอสังเกตอาการ 30 นาที หากอาการปกติดีให้กลับบ้านได้ (7) หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีไข้ ให้รับประทานยาพาราเซตามอล และ (8) หากมีอาการผื่นขึ้นเต็มตัว คัน บวม เวียนศีรษะ หายใจลำบาก หรือมีไข้สูงมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ หลังจากฉีดวัคซีนแล้วยังไม่ควรออกกำลังกายในช่วง 1 สัปดาห์แรก ควรดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนการเข้ารับวัคซีน ผู้ปกครองจะต้องศึกษาข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคโควิด 19 และวัคซีนโควิด 19 ลงลายมือชื่อในเอกสารแสดงความประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีน และกรอกข้อมูลในแบบคัดกรองก่อนรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่า นักเรียนสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ และในกรณีที่เด็กมีโรคประจำตัวอาการรุนแรง อาการไม่คงที่ มีความเสี่ยงอาจอันตรายถึงเสียชีวิต แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่านักเรียนสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่
นอกจากนั้น เมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีนแล้ว กรุงเทพมหานครจะจัดประชุมร่วมกันระหว่างสำนักการศึกษา สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขต และโรงเรียนสังกัด กทม. เพื่อวางแผนเตรียมการฉีดวัคซีน และสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้ผู้ปกครองในการนำบุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 พร้อมทั้งกำหนดแผนเผชิญเหตุ จัดเตรียมรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อส่งต่อนักเรียนในกรณีนักเรียนได้รับวัคซีนแล้วมีอาการรุนแรง คือ มีไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนรุนแรงมากกว่า 5 ครั้ง ชัก และหมดสติ เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เพื่อพบแพทย์ทันที
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักการแพทย์ ได้แนะนำการประเมินอาการของเด็กอายุระหว่าง 5 – 11 ปี ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งผู้ปกครองมีความประสงค์ให้เด็กเข้ารับวัคซีนโควิด 19 โดยให้เด็กงดออกกำลังกายในช่วง 1 สัปดาห์หลังการฉีดวัคซีน และเนื่องจากเด็กอาจไม่เคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือขณะทำกิจกรรม ดังนั้น ก่อนฉีดวัคซีน ผู้ปกครองควรคัดกรองบุตรหลานโดยเฉพาะเด็กที่มี โรคประจำตัวที่รุนแรง อาการยังไม่คงที่ ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ เช่น โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาท และโรคอื่นที่เพิ่งจะมีอาการ รวมถึงควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลประจำ ส่วนข้อปฏิบัติหลังฉีดวัคซีน แนะนำให้งดออกกำลังกาย หรือกิจกรรมการเล่นอย่างหนักเป็นเวลา 7 วัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน หากเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หากเด็กมีอาการภายหลังได้รับวัคซีนที่รุนแรง เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หอบเหนื่อย ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อประเมินอาการ หลังฉีดจะมี QR Code ให้สแกน เพื่อประเมินผลข้างเคียงและให้ความรู้การดูแลหลังฉีด ทั้งนี้ โรงพยาบาลสังกัด กทม. มีกุมารแพทย์ สามารถประเมินอาการ ให้การรักษา และสามารถส่งต่อไปศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ ประสานส่งต่อเครือข่าย ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินพื้นที่กรุงเทพฯ โทร.สายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ เพื่อนำส่งโรงพยาบาลทันที รวมทั้งสามารถปรึกษา-ตอบปัญหาเรื่องสุขภาพได้ที่สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง