“คุณหญิงพรทิพย์” ป้อง “ทนายกฤษณะ” ไม่มีความผิดเข้าห้องผ่าชันสูตรศพ โต้กลับลำรับเงิน อยากคุยกับคุณแม๊ตรงๆ อยู่ข้างผู้ตาย

รายการ เป็นเรื่องใหญ่ ออนแอร์ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.15 น. ทางช่อง JKN 18 ดำเนินรายการโดย “อั๋น ภูวนาท คุนผลิน” ได้สัมภาษณ์ “พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์” อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมสังเกตการณ์ผ่าชันสูตรศพ “แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์” รอบ 2 พร้อมโฟนอินหา “ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์” ทนายความคุณแม่ “ภนิดา” กรณีคุณแม่เปลี่ยนทนายหลักเป็นทนายเดชา แทน “ทนายกฤษณะ ศรีบุญพิมพ์สวย” ที่ถูกพักงานชั่วคราว

เรื่องที่มีการปรับเปลี่ยนทนายหลัก จากทนายกฤษณะมาเป็นทนายเดชา มันเกิดอะไรขึ้น?

เดชา ก็คุณแม่ไม่ให้ใช้คำว่าปลดนะ ให้ใช้คำว่าพัก หมายความว่าไม่ให้มายุ่งเกี่ยวในคดี ก็คือให้อยู่ข้างหลังไว้อะไรทำนองนี้ อันนี้เป็นข้อความที่คุณแม่พูด

การพักจะเป็นการพักยาวแค่ไหนครับ?

เดชา ก็ต้องรอให้คุณแม่หายโกรธก่อนนะครับ ตอนนี้คุณแม่โกรธอยู่นะครับ 100อยู่นะครับ

อยู่ดีๆ แม่ไม่ปลื้มเรื่องไหน?

เดชา ก็น่าจะประมาณสัก 3-4 ประเด็น ประเด็นแรกคือไปออกรายการทีวีไปนั่งคุยในรายการ talk ต่างๆ นะครับ เพราะคุณแม่ได้สั่งห้ามทนายกฤษณะห้ามออกรายการสถานีโทรทัศน์ในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องเนื้อหาของคดี และเตือนหลายครั้งแล้วก็ยังไม่เชื่อ อันที่สองเป็นการให้สัมภาษณ์ที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจอันนี้คุณแม่ไม่ชอบเพราะทำให้คุณแม่มีปัญหากับตำรวจ อันที่สามเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการแย่งซีนเวลาคุณแม่ไปกับคุณกฤษณะเวลาที่คุณแม่ไปที่นิติเวชตำรวจ ไปที่นิติวิทยาศาสตร์ คุณแม่ใช้คำว่าเข็ญคุณแม่เข้ารถไปแล้วตัวเองก็ไปให้สัมภาษณ์แทน เรื่องสุดท้ายก็คือว่าพยายามเข้าไปในห้องผ่าศพที่มีอาจารย์หมอพรทิพย์และแพทย์นิติวิทยาศาสตร์เพราะคุณแม่ไม่ต้องการให้ทนายกฤษณะเข้าไปยุ่ง แต่ยังฝ่าฝืนคำสั่ง

ทนายเดชาได้เข้าไปมั้ยในห้อง?

เดชา การผ่าศพซ้ำหรือการผ่าครั้งที่ 2 คุณแม่ไม่ให้ผมเข้าไปยุ่งเกี่ยวนะครับ

ทำไมเขาถึงตั้งใจอยากเข้าไป แล้วในความเป็นจริงเขามีสิทธิ์เข้าไปมั้ย?

เดชา เขามีสิทธิ์เข้าไปก็ต่อเมื่อคุณแม่ทำหนังสือให้ความยินยอม คุณแม่ได้เขียนด้วยลายมือก็คืออนุญาตให้คุณหมอพรทิพย์เข้าไป แต่ว่าข้อเท็จจริงปรากฏตามสื่อก็คือว่าคุณกฤษณะพยายามจะเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับการชันสูตรครั้งที่ 2 นะครับ

ตอนนี้ถ้าพูดว่าจากนี้ไปจะเป็นทนายเดชาที่เป็นทนายหลักของคุณแม่แล้วใช้คำแบบนี้สรุปได้ชัดๆ เลยถูกต้องมั้ย?

เดชา ใช่ครับ เมื่อตอนบ่ายๆ นี้ก็ได้มีการเซ็นแต่งตั้งเรียบร้อยแล้วครับ เพราะแกจะยกเลิกใบแต่งตั้งทนายความเดิม ก็คือไม่ให้มาเกี่ยวข้องกับคดีนี้

ถ้าอย่างนี้แสดงว่าทนายเดชาก็ห้ามไปสัมภาษณ์ตามรายการทีวีต่างๆ เหมือนกันมั้ย?

เดชา ของผมไม่มีข้อห้ามครับ

ถามเมื่อสักครู่นี้ที่ทนายเดชาพูดเลย?

พรทิพย์ จริงๆ อยากให้คุณแม่เข้าใจนิดนึงคือในการผ่าศพครั้งที่ 2 หรือทำอะไรก็ตามนอกจากทนายแล้วควรจะมีตัวแทนของญาติ หมายถึงว่าญาติที่ไม่ใช่นักกฎหมาย ส่วนใหญ่เวลาเราทำงานเราใช้แบบนี้ ปกติก็จะไม่ยอมมีญาติมา แต่ทนายกฤษณะก็จะเข้ามาด้วยจนกระทั่งในการพิสูจน์ครั้งที่ 2 เราพยายามประสานค่ะคุณต้องเข้าคุณจะได้รู้ว่าเขาคุยอะไรกันอยากให้ทนายและญาติเข้ามา ปรากฏว่าเมื่อวานนี้พยายามติดต่อแล้วไม่สำเร็จ ส่วนคุณศตวรรษเขาเป็นเหมือนผู้ที่เข้าโบสถ์แล้วก็คุ้นเคยกับคุณป้าของคุณแตงโม ซึ่งทำให้ทางนั้นแก่มากแล้วก็อยากให้คนนึงเข้ามาช่วย คนที่นับถือศาสนาคริสต์เนี่ยเขาจะมีความผูกพันกัน เราก็เลยให้คุณศตวรรษมา แต่เราจะประสานยังไงว่าให้คุณแม่ยินยอมคุณศตวรรษ ในที่สุดคุณแม่ก็ยินยอม แต่เราไม่ได้นึกไปขนาดว่าคุณแม่ไม่ให้ทนาย จริงๆ แล้วในทางปฏิบัติถ้าเป็นข้อสุดท้ายอยากให้คุณแม่คลายค่ะ มันไม่ใช่ความผิด การที่มีทนายเข้ามาเท่ากับว่ามีพยานไม่ใช่ว่าให้หมอพรทิพย์คนเดียว คนนั้นเขามาในนามนักกฎหมาย เพราะฉะนั้นไม่ได้มีอะไรผิด

 จุดที่หลายคนสงสัย 11 จุดน่าสงสัยบนร่างของน้องแตงโม ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ และส่วนหน้าอก ก่อนหน้านี้มีความสงสัยว่าถูกทำร้ายหรือเปล่า ถูกของแข็งตีหรือเปล่า?

พรทิพย์ ก็ก่อนตอบคำถามเพื่อให้เข้าใจนะคะว่าอยู่ใน 2 บทบาท บทบาทที่ 1 คือที่คุณแม่เขาต้องการให้เราเป็นตัวแทนในการช่วยหาความจริง ก็เลยยื่นเรื่องนี้ให้กับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงเลยตั้งให้เป็นที่ปรึกษา บทบาทที่ 2 คือเป็นกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ซึ่งคุณแม่ก็ได้ยื่นหนังสือร้องให้กรรมาธิการช่วย ก็เลยไปในสองบทบาทเพราะเป็นคนที่มีความรู้เรื่องนี้ ดังนั้นคำตอบนี้จึงเป็นคำตอบที่ไม่ใช่ในนามกรรมการ ไม่ใช่ในนามกรรมาธิการ แต่เป็นการให้คำตอบเพราะคุณแม่วางใจเชื่อใจในการให้ข่าว

ประเด็นแรก เรื่องฟัน ก็ได้บอกไปแล้วว่าตั้งแต่ภาพถ่ายตอนเกิดเหตุและการผ่าศพครั้งที่ 2 ชัดเจนค่ะว่าไม่มีการบาดเจ็บแต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เรามองว่าเป็นเหตุให้คุณไทด์เข้าใจผิดน่าจะเป็นการสำลักของคุณแตงโมเอาดินเข้าไปเยอะ พอมันเข้าไปติดอยู่ที่ฟันพอมองแว๊บๆ แล้วเหมือนฟันหลอ เรื่องที่สองคือการบาดเจ็บที่ศีรษะเราจะดูยากนิดนึงเพราะว่าศพมันเน่าแล้ว แต่เมื่อดึงหนังศีรษะออกก็ไม่มีรอยช้ำ กะโหลกไม่แตก สมองเราไม่ทราบเพราะไม่อยู่แล้ว เอกซเรย์กระดูกก็ไม่เห็นรอยแตก เพราะฉะนั้นก็ยืนยันได้ว่าไม่มีนะคะ ส่วนที่ลำคอ ภาพถ่ายภาพแรกชัดว่าไม่ใช่ แต่พอเคลื่อนไปมามันจะมีสร้อย และที่ชัดไปกว่านั้นก็คือการรัดคอมันจะมีลักษณะปรากฏ แต่ในศพมันไม่มี เพราะถ้ามีการรัดหรือขาดอากาศหายใจมันจะมีจุดเลือดออกที่ตาขาว

มีคนบอกว่าฟันที่เห็นว่าบิ่นจริงๆ แล้วเป็นฟันที่น้องแตงโมเคยเกิดอุบัติเหตุแล้วเขามีการครอบฟันไว้?

พรทิพย์ : ไม่ใช่เลยค่ะ ถ้าฟังที่ทันตแพทย์พูดนะคะไม่ได้บอกว่าฟันบิ่น แต่พูดว่าคุณหมอคิดว่าคุณแตงโมน่าจะมีร่องรอยการครอบฟันมันอาจเป็นครอบฟันชั่วคราวอะไรประมาณนี้ แต่คุณหมอเขาก็บอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระแทกจากอุบัติเหตุ

ผมถามแทนหลายๆ คนที่เกิดคำถามในกรณีคุณ ไทด์ เอกพันธ์ ซึ่งใจนึงเราพร้อมที่จะเชื่ออยู่แล้ว คุณหมออยากอธิบายในมุมที่คุณไทด์มองที่เขายืนยันว่าเขาเห็นแบบนั้นจริงๆ?

พรทิพย์ ต้องเรียนว่าคุณไทด์เห็นก็ด้วยประสบการณ์ ซึ่งเราไม่รู้ว่าคุณไทด์มองรูปตอนไหนนะ เพราะเขาไม่ให้ถ่ายรูป อาจไปมองรูปตอนที่เขาเผยแพร่ออกมาแล้ว เพราะฉะนั้นคุณไทด์เขาอาจมองเห็นเป็นจุดดำๆ พวกเราก็คุยกันนะคุณหมอทั้งหลายว่าสิ่งที่เห็นตอนแรกน่าจะเป็นคราบดิน เพราะในกรณีของคุณแตงโม ทั้งหลอดลม หลอดอาหาร กระเพาะอาหารเต็มไปด้วยน้ำและคราบดิน ก็คือจากที่สำลักเข้าไป แต่ที่สุดแล้วหากไม่ได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้มันก็คงไม่เปิดโอกาสให้สังคมหรือคุณแม่เข้าถึงข้อมูลของบาดแผล เพราะเขาจะมีวัฒนธรรมที่ไม่ส่งให้ญาติค่ะ

คุณหมอใช้คำว่าวัฒนธรรม แปลว่ามันไม่ได้เป็นกฎระเบียบขั้นตอน?

พรทิพย์ มันไม่ใช่กฎหมาย และมันไม่ใช่หลักสากล แต่เป็นระเบียบภายในองค์กรของตำรวจ และก็เป็นวัฒนธรรมที่หลักสูตรนิติเวชผู้ใหญ่ก็จะสอนกันมาว่าหมอนิติเวชมีหน้าที่ชันสูตรศพและส่งรายงานให้ตำรวจ ซึ่งเวลาที่เราทำงานจะอ่านจากตำราต่างประเทศ ซึ่งเขาก็จะเขียนว่าหมอนิติเวชต้องทำงานเป็นอิสระ และต้องไม่คำนึงถึงความกดดันจากผู้บังคับบัญชาหรือตำรวจ และต้องทำงานเพื่อคนที่เรากำลังทำอยู่ แต่ของไทยมันไม่ได้เขียนกฎหมายซึ่งมีนักกฎหมายหลายคนอาจถึงเวลาที่ต้องเขียนกฎหมายว่าเป็นสิทธิที่จะรับรู้

ประเทศไทยนิติเวชตรวจเสร็จเรียบร้อยญาติไม่มีสิทธิรู้เหรอครับ?

พรทิพย์ อันนั้นเป็นวัฒนธรรมอย่างที่บอกไง แต่ถ้าเป็นระเบียบนี่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น สถาบันนิติเวช โดยส่วนตัวทำงานมานานเขาให้ค่ะ นึกภาพนะคะ ผู้ตายตายในห้องขัง ถูกส่งศพมาชันสูตร เราต้องบอกว่าเราเจอตับแตก เราเจอแบบนี้ๆ เพื่อที่จะให้ญาติรู้ว่าเขาทำคดีกันยังไง ในขณะเดียวกันรายงานเราก็ส่งค่ะ ส่งให้กับตำรวจ เพื่อที่พนักงานสอบสวนจะไปทำคดี เพราะมันไม่ใช่ความลับในคดี มันเป็นความจริงที่เกิดขึ้น ญาติเขามีสิทธิที่จะรับรู้ แล้วพอได้อาจหลักการของสากลคือ เหยื่อมีสิทธิ 2 อย่าง สิทธิที่จะได้รับรู้ และสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา แม้แต่ไม่ตายก็มีสิทธิรับรู้ว่าตำรวจกำลังดำเนินคดีกับใครบ้าง และมีสิทธิที่จะเสนอว่าอยากใช้อันนี้นะ

เห็นว่าครั้งนี้มีการไปตรวจสอบอื่นๆด้วย เช่นเล็บ หลอดลม อวัยวะเพศ รอยเลือดต่างๆเพิ่มเติมด้วย?

พรทิพย์ ทุกข้อที่ขอมาก็เพื่อจะยืนยันว่าเป็นไปตามครั้งแรกมั้ย แต่บางอย่างมันยังตอบไม่ได้ เช่น ตรวจในช่องคลอด เรายังไม่รู้ว่าเจออะไรหรือไม่เจอ แต่ก็ได้ทำ หลอดลมก็ตรวจดูซึ่งสภาพศพมันโดนหั่นมาแล้วมันเลยดูยากมาก

 คุณหญิงหมอบอกว่าครั้งแรกที่ทำมาทำได้สมบูรณ์มาก?

พรทิพย์ ใช่ค่ะ ก็ดีใจว่ามันเป็นการเก็บหลักฐานที่สมบูรณ์ค่ะ

คุณหญิงหมอมีโอกาสได้คุยกับคุณแม่ของคุณแตงโมบ้างมั้ย?

พรทิพย์ คุยเมื่อเขาติดต่อว่าอยากให้เป็นคนผ่าศพครั้งที่ 2 ทางโทรศัพท์ แล้วก็เลยคุยกับเขาว่าหลักการควรจะเป็นแบบนี้นะ ก็เลยให้ทนายคุยคือคุณแม่เขาจะไม่สะดวก นั่นก็คือเราบอกกับเขาเลยว่าอย่าเพิ่งให้ผ่าศพครั้งที่ 2 แต่อยากให้ไปติดต่อขอให้ตำรวจชี้แจงข้อมูล ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกเปิดเผยออกมาเปิดเผยให้คุณแม่รู้ เพราะถ้าเขาให้รู้ก็ช่วยนัดเรา เราจะไปวันพุธ แต่ถ้าเขาไม่ให้รู้ก็ให้ชันสูตรครั้งที่ 2 แล้วจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อ พอวันจันทร์ก็ทางทนายทั้ง 2 คน เขาก็ไปอยู่ที่สถาบันนิติเวช คือมันไม่ปกติ พอเรายื่นเรื่องปั๊บเขาก็แถลงเลย เหมือนเขานัดกันมาแล้ว เพราะฉะนั้นตอนที่เขานัดมาเขาก็ให้ดู ถามว่าทำไมต้องมีหมอพรทิพย์ เขาแค่ฟังแต่เขาดูไม่เป็นหรอก ตอนนั้นก็เลยคิดว่าคงไม่ต้องชันสูตรครั้งที่ 2 แล้ว แต่มันก็ยังมีประเด็นอีก ด้วยความห่วงใยว่าทุกๆ คนต้องทำให้รอบคอบ ไม่อย่างนั้นมันจะวกวนไปมา ทำให้คุณแม่สับสน

 ทำไมคุณแม่ถึงคิดว่าต้องชันสูตรครั้งที่สอง ?

พรทิพย์ ลึกสุดเลยคุณแม่ไม่แล้วใจว่าน้องแตงโมถูกทำร้ายมั้ย ด้วยความไม่รู้ว่าดูจากศพหรืออะไร แล้วก็มีความไว้วางใจคุณหมอพรทิพย์ สิ่งหนึ่งที่อยากให้มีความเปลี่ยนแปลงคืออยากให้คุณแม่มีเวลามาพูดคุยตรงๆ กับหมอบ้าง เราจะนัดอาจารย์ธงชัย เพื่อที่จะได้ฟังแล้วก็ให้เขาถามเราให้เขาสบายใจว่าเราอยู่ข้างผู้ตายแน่นอน

 วันนี้มีข่าวออกมาอีกว่าเจอแผลใหม่มาอีก  22 บาดแผล?

พรทิพย์ ค่ะ ก็เป็นบาดแผลที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณบาดแผลใหญ่ทุกคนเห็นว่ามันเป็นประเด็นสำคัญ น่าจะสื่อไปถึงพนักงานสอบสวนเพราะในทางนิติเวช เราจะเรียกมันว่าบาดแผลเฉพาะ ก็คือบาดแผลมันจะมีรูปร่างที่น่าจะบอกถึงวัตถุ ซึ่งสิ่งนี้มันจะช่วยในการตอบโจทย์ค่ะ

แต่ไม่ใช่สาเหตุในการเสียชีวิตแน่นอน?

พรทิพย์ ไม่ใช่แน่นอนค่ะ

ณ ตอนนี้เราตัดประเด็นฆาตกรรมทิ้งได้เลยมั้ยครับ?

พรทิพย์ อันนี้สังคมเข้าใจคำสองคำผิด ฆาตกรรมเนี่ยคือตั้งใจจงใจฆ่า แต่อีกคำนึงคือถูกกระทำแต่ว่าไม่ได้ตั้งใจฆ่า ตัวอย่างเช่น เกิดทะเลาะกันผลักกันแล้วล้มลงไปตาย ณ วันนี้ตอบได้มั้ยยังตอบไม่ได้ ซึ่งบนตัวศพต้องเอาไปประกอบกับหลักฐานบนเรือ กับจากคน 5 คนค่ะ เพราะบาดแผลคุณแตงโมมันเยอะค่ะ มันมีรอยช้ำหลายๆ อย่าง พวกนี้ 1 ที่ ก็คือ 1 การกระทบค่ะ

บาดแผลที่บอกว่าลึก แผลใหญ่ เมื่อวานคุณหมอพูดคำนึงว่าแผลสวย?

พรทิพย์ แผลที่บอกว่าสวยคือแผล pattern ค่ะ ส่วนแผลใหญ่ไม่ลึกถึงกระดูก คุณหมอทุกท่านบอกว่าไม่เหมือนใบพัดเรือ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ใช่ค่ะ เพราะนิติเวชไม่มีอะไร 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่าเรามองว่าที่เราเคยเจอไม่ใช่แบบนี้

แล้วจะมีบทสรุปของแผลนี้มั้ยครับ?

พรทิพย์ มีค่ะ ถ้าทำงานร่วมกัน คือพนักงานสอบสวนต้องคุยกับคุณหมอ ทั้งคู่ต้องช่วยกัน แล้วก็ไปคุยกับ พฐ. ไปดูที่คุณหมอสงสัย หรือ พฐ. สงสัย เช่นดูเรือ ดูใบพัดอะไรทั้งหลาย ที่จะไปต่อได้เนี่ยคือแผล pattern เลยค่ะ

 มีกระแสสังคมมาที่คุณหญิงว่าทำไมกลับทาง รับเงินหรือเปล่า แม้แต่มีคน inbox มาด่าด้วย?

พรทิพย์ เราเข้าใจนะคะว่าเจอสถานการณ์แบบนี้อยู่ ทุกครั้งที่ทำงานเราต้องมีสติ เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร การที่เขาว่าเราถ้าเขามาดูหลักการและเหตุผลถ้าเขามีโอกาสนะ เขาก็จะเข้าใจ อยากจะบอกว่าศพไม่ใช่เป็นที่เดียวที่มีหลักฐานค่ะ ยังไม่จบคดีคุณแตงโม พยานหลักฐาน ณ จุดอื่นที่จะบอกได้ว่า เขาถูกกระทำหรือเป็นอุบัติเหตุ เพราะฉะนั้นให้รอ และอย่าตามแต่ข่าวเรื่องศพ ให้ดูทั้งโครงสร้างค่ะ

หลังจากนี้ต้องทำอะไรต่อ?

พรทิพย์ ในบทบาทที่ปรึกษาของทางกระทรวงยุติธรรมคือเราอยากคุยกับคุณแม่ คือพูดตรงๆ อยากให้คุณแม่ฟังจากปาก จะได้ทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าจะได้ทำอะไรต่อ ต่อมาเป็นบทบาทของ กมธ.ค่ะ กมธ.สามารถขยายผลในบางส่วนคือหมายถึงว่าเชิญหน่วยงานมาชี้แจง และสุดท้ายคือทำในเชิงระบบสิทธิที่จะรับรู้ กฎหมายเรื่องชันสูตรศพ เรื่องการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน มี พ.ร.บ.นิติวิทยาศาสตร์ มี พ.ร.บ.คดีอาญา ทำอย่างไรจะให้มันขับเคลื่อนได้เพื่อแก้ปัญหานี้ในเชิงระบบอันนี้เป็นหน้าที่สุดท้ายของ กมธ.ค่ะ

อยากฝากบอกอะไรกับคนไทยทั้งประเทศที่ติดตามข่าวนี้?

พรทิพย์ เรื่องแรกเลยในด้านดีค่ะ การที่มีทุกคนช่วยกันตรวจสอบครั้งนี้เป็นครั้งแรกเท่ากับทุกคนใช้สิทธิของเรา ส่วนเรื่องที่อยากให้ระวังคือว่าเราอย่าดูมันจนเป็นเหมือนละคร แต่ให้มองภาพใหญ่แล้วให้เอาพลังนี้ขับเคลื่อนให้เกิดความยุติธรรมให้ได้ค่ะ