ครบรอบ 2 เดือน สูญเสีย ‘หมอกระต่าย’ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา–สสส.–สภากาชาดไทย-ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อน“หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” เน้นย้ำหยุดรถทางม้าลาย-ลดความเร็วเขตชุมชน-ชะลอก่อนทางแยกทางข้าม สร้างจิตสำนึกผู้ใช้รถใช้ถนน
ที่บริเวณสี่แยกอโศก-เพชรบุรี คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเขตห้วยขวาง สถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มี.ค.65 พร้อมเปิดป้ายประชาสัมพันธ์ แจกสติ๊กเกอร์ “ขอบคุณ ที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” รณรงค์สร้างจิตสำนึก ให้ผู้ขับขี่หยุดรถตรงทางม้าลาย ด้วยการลดความเร็วเขตชุมชน และชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า วุฒิสภา สสส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติและภาคีเครือข่าย มีความเห็นพ้องร่วมกัน ถึงปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนนนี้ จึงจัดกิจกรรม ในวาระครบรอบ 2 เดือน ต่อการจากไปของหมอกระต่าย และรัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) สั่งการไปยังศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด และมอบสื่อผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธาน ศปถ.จังหวัด นำไปใช้ในการจัดกิจกรรม “การรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม” พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้สร้างความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่ให้มีจิตสำนึก และตระหนักถึงความสูญเสีย ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขับรถที่ไม่มีวินัย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือไม่หยุดให้คนข้ามบนทางม้าลาย “ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนนวุฒิสภา สสส. และภาคีเครือข่าย ได้มุ่งมั่น เร่งรัด ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน บูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่ายและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งจากปัญหาอุบัติเหตุ และความปลอดภัยทางถนน ทางคณะกรรมการฯ และรัฐสภาจะมุ่งมั่นทำงาน เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนให้ได้มากที่สุด โดยใน 2 เดือนที่ผ่านมาได้รับรายงานจาก ศปถ.กรุงเทพฯ ว่าได้สำรวจจุดเสี่ยงและปรับปรุงทางเท้าให้มองเห็นได้ชัดเจน รวมถึงทำสัญลักษณ์ลดความเร็วก่อนถึงทางข้ามเกือบครบทุกพื้นที่แล้ว” นายสุรชัย กล่าว
ฝ่ายเลขาคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า จากข้อมูล 3 ฐานที่รวบรวม โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 10 ปีย้อนหลัง พบการเสียชีวิตของคนเดินเท้าเฉลี่ยถึง 1,000 รายต่อปี โดยเกือบครึ่งเป็นการก่อเหตุจากจักรยานยนต์ และ 1 ใน 3 เกิดในพื้นที่กรุงเทพฯ และข้อมูลจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่าในห้วง 1 เดือนที่ผ่านมา (21 กุมภาพันธ์ – 20 มีนาคม 65) ยังพบว่ามีคนเดินเท้าเสียชีวิตบนทางม้าลาย แต่ภาพรวมการเสียชีวิตของคนเดินเท้ามีแนวโน้มลดลง จากค่าเฉลี่ยเดิมวันละประมาณ 3 คน เหลือไม่เกิน 2 คน จึงมีความจำที่ต้องช่วยกันรณรงค์ และย้ำเตือนให้เกิดวัฒนธรรมการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่มีประสิทธิภาพ
“จากกรณีการเสียชีวิตของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่ถูกรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ชน ขณะข้ามถนนบนทางม้าลาย เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความเสี่ยง และการไม่เคารพกฎหมายรวมถึงจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนน ที่เกิดขึ้นบนท้องถนนของไทย ความสูญเสียบนท้องถนนโดยเฉพาะทางม้าลาย ไม่สมควรจะเกิดขึ้นอีก จึงขอเชิญชวนทุกฝ่าย หยุดความสูญเสีย ด้วยการหยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย พร้อมติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงที่รถ ข้อความ “ขอบคุณ ที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ฝ่ายเลขาคณะกรรมการฯ กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่ายสนับสนุนการทำงาน เพื่อมุ่งลดความสูญเสีย จากอุบัติเหตุทางถนนบนทางม้าลาย ทั้งการสื่อสารรณรงค์ให้ความรู้ สร้างความตระหนัก ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ มุ่งสร้างวัฒนธรรมใหม่ ในการใช้รถใช้ถนน จากกรณีอุบัติเหตุของคุณหมอกระต่าย เป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนความสูญเสีย ทั้งผู้ที่ต้องเสียชีวิต หรือกลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิต จากพฤติกรรมการขับขี่อันตราย เช่น ขับเร็ว ดื่มแล้วขับ ซึ่งเป็นเหตุสำคัญของความสูญเสีย รวมถึงปัญหาในเชิงระบบที่ยังต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไขร่วมกันต่อไป ทั้งทางด้านกายภาพถนนที่ต้องมีความปลอดภัย การบังคับใช้กฎหมายที่ต้องทำตลอดต่อเนื่อง การเคารพกฎหมายที่ทุกคนต้องถือปฏิบัติทั้งผู้ขับขี่-คนเดินเท้า
“การใช้ความเร็วรถที่ 30 กม.ต่อชั่วโมง หากเกิดการชนจะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ถึง 90% หากเราใช้ความเร็วที่ปลอดภัยนี้หน้าโรงเรียน โรงพยาบาล เขตชุมชน ตลาด และชะลอรถเมื่อถึงทางข้าม จะช่วยให้ไม่ต้องมีคนเดินเท้าต้องเสียชีวิต และในภาพรวมจะช่วยลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตของคนไทยได้มาก สสส. และภาคีเครือข่าย มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยจะเน้นการดำเนินงานสำคัญ คือ 1. ลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ และเพิ่มพฤติกรรมความปลอดภัย 2. สร้างสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัย ในการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เยาวชน และวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และเน้นทำงานในพื้นที่จุดเสี่ยงและเกิดอุบัติเหตุสูง” ดร.สุปรีดา กล่าว