สสส. เดินหน้าต่อยอดงาน ThaiHealth Watch 2022 หลังโควิด-19 กระทบการกินคนไทยไร้สมดุลอย่างหนัก อาหารไขมันท่วม 42% แปรรูป 39% ดื่มน้ำหวานถี่ 34% ซ้ำ กินผักผลไม้ไม่ถึงเกณฑ์ เสี่ยง! ป่วย NCDs ดึง กูรู ชวนปรับพฤติกรรมดูแลสุขภาพ-สร้างความตระหนักรู้กินไม่ขาด-เกิน มุ่งเสริมการบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการอย่างสมดุล
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม ThaiHealth Watch 2022 The Series หัวข้อ “เรื่องกินเรื่องใหญ่ กินอย่างไร ไม่ขาด ไม่เกิน” ในรูปแบบถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจและยูทูบช่อง ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์กว่า 1,000 คน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า 1 ใน 10 เทรนด์สุขภาพคนไทย ปี 2565 โดย Thaihealth Watch 2022 สสส. คือการบริโภคที่ขาดสมดุล ล้นเกิน หรือขาดแคลน จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไป จากข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของประชากร ปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจ 84,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ พบพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมรับประทานเป็นประจำ หรือความถี่ 3-7 วันต่อสัปดาห์ คือ อาหารไขมันสูง 42% อาหารแปรรูป 39% และเครื่องดื่มเติมน้ำตาลบรรจุขวดที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 34% กลายเป็นรายจ่ายของครัวเรือนเฉลี่ย 7,450 บาทต่อสัปดาห์ สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยกำลังขาดความมั่นคงทางอาหาร และยังเสี่ยงต่อการป่วยโรค NCDs ในระยะยาว
“ช่วงเปิดเทอมนี้ เด็กวัยเรียน อายุ 6-14 ปี ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะเป็นวัยที่มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารกลุ่มเสี่ยงเป็นประจำ และยังพบว่า สัดส่วนการกินผักที่เหมาะสมอยู่ที่ 63% ส่วนการกินผลไม้ที่เหมาะสมมีเพียง 1 ใน 3 ของมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเท่านั้น ท่ามกลางการบริโภคแบบขาด ๆ เกิน ๆ นี้ สสส. ได้เร่งต่อยอดการดำเนินงานสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ และรณรงค์ให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมถูกต้องอย่างยั่งยืน ผู้สนใจติดตามข้อมูลได้ที่ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นางสาวแววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ และที่ปรึกษาโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม สสส. กล่าวว่า คนไทยมีการบริโภคอาหารแปรรูปมากขึ้น กินผักและผลไม้น้อยลง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการรับสารเคมี เช่น ไนเตรท ไนไตรท์ หรือสารยืดอายุอาหาร รวมถึงขาดวิตามิน และแร่ธาตุ สิ่งสำคัญคือ การวางแผนการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้เหมาะสมกับช่วงวัย ลดการกินจุบจิบระหว่างมื้อ ลดอาหารไขมันสูง และเครื่องดื่มชง ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปเกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะมีไขมันอิ่มตัวและสารเคมีที่เข้าไปสะสมในร่างกาย และควรรับประทานผักและผลไม้เพิ่มในทุกมื้อเพื่อสร้างสมดุล
นายชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต นายแบบและนักแสดงที่ใส่ใจสุขภาพ กล่าวว่า สุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องดูแลใส่ใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นดาราหรือนายแบบ นอกจากการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการมีสุขภาพที่ดีคือกำไรชีวิตในระยะยาว ส่วนตัวรับประทานอาหารแบบนับแคลอรี่ มีการวางแผนที่ยืดหยุ่น เช่น ถ้ามื้อนี้อยากรับประทานของทอด มื้อถัดไปก็จะเลือกกินสลัด หรือถ้ามื้อนี้รับประทานของหวาน มื้อถัดไปจะลดน้ำตาลลง เพื่อให้เกิดความสมดุลในการใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องบังคับหรือฝืนตัวเองจนอาจส่งผลเสียต่อจิตใจ