รู้แล้วจะยิ่งอิน! เปิดเรื่องไม่ลับหลังเลนส์ กับเกร็ดความรู้ที่ผู้ชมจะได้ในละคร “เล่ห์ลุนตยา”

เป็นซีรีส์หนึ่งในชุดผีผ้าของนิยายคุณหมอพงศกร ที่แฟนๆ ต่างโหวตให้ถึงความกลมกล่อม ส่วนประกอบของเนื้อเรื่องลงตัวมากที่สุด สำหรับ “เล่ห์ลุนตยา” จนได้มาผลิตเป็นละครออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ซึ่งได้ นักแสดงมากฝีมือ “ยุ้ย-จีรนันท์” มารับบท เจ้าหญิงมินพยู “วาววา-ณิชชา” ในบท เอละวิน /เอลดา  “พิม-พิมพ์พรรณ” ในบท เจ้าแสนดา หรือจะสองแม่ลูก ยองตมานกับยองตยา ซึ่งแสดงโดย “โบว์-เบญจศิริ”-“คารีสา-สปริงเก็ตต์” ที่ออกมาแต่ล่ะฉากก็ทำแฟนละครถูกใจไม่น้อย เพราะต่างมีวลีเด็ดสร้างภาพจำจนหลายคนนำไปทำตาม ร่วมด้วยกองทัพนักแสดงมากฝีมืออีกมากมาย ซึ่งทำให้ละครเรื่องนี้ยิ่งสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เหมือนตัวละครมีชีวิตโลดแล่นออกมาจากนวนิยายสู่จอแก้วจริงๆ ล่าสุดละคร เล่ห์ลุนตยา ได้เดินทางไปถึง 10 อีพีแล้ว และทุกฉากทุกตอน ล้วนสนุก น่าติดตาม กระตุ้มต่อมแฟนละครให้ตามต่อทุกอีพี สิ่งหนึ่งที่มากกว่าความสนุก ละครเรื่องนี้ยังได้เดินทางพาผู้ชมไปสู่เกร็ดความรู้ วัฒนธรรม แบบไม่รู้ตัว เปรียบเหมือนห้องสมุดที่เป็นแหล่งความรู้ สื่อสารผ่านความบันเทิงทำให้คนดูเพลิดเพลินแบบเนียน ๆ เรียกว่าดูละครจบปุ๊ป ได้สาระปั๊บ แต่แฟนละครจะได้สาระกันในเรื่องใดบ้าง วันนี้จะมาเปิดเรื่องไม่ลับกับเกร็ดความรู้ที่ได้ในละครเรื่องเล่ห์ลุนตยา จะมีเรื่องอะไรบ้าง ไปดูกัน

ผ้าลุนตยา ความทรงจำแห่งวิถีชนชั้นสูง
เห็นได้ว่าในละครเรื่องเล่ห์ลุนตยา เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าลุนตยาโดยตรง แต่มั่นใจว่า น้อยคนที่จะรู้จักที่มาของผ้าลุนตยา ว่าเป็นมาอย่างไร เพราะไม่ใช่ผ้าที่มีต้นกำเนิดจากประเทศไทย ผ้าลุนตยา หรือ “ลุนตยาอเชะ” ผ้าทอร้อยกระสวยของราชสำนักพม่า ในยุคจารีตของพม่า ผ้าทอลุนตยาอะเชะสงวนไว้สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ หรือสำหรับพระราชทานแก่ขุนนาง สามัญชนไม่สามารถนำไปสวมใส่ได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนกฎมณเฑียรบาล จะมีบทลงโทษ จากในละครเล่ห์ลุนตยา สังเกตได้ว่า บุคคลที่ใส่ผ้าลุนตยา ก็จะมีแต่ตัวละคร ที่เป็นชนชั้นสูงเท่านั้น โดยผ้าลุนตยา ที่เจ้าหญิงมินพยูได้สวมใส่ในเรื่องเป็นสีชมพูกลีบกุหลาบ เป็นเทคนิคการทอแบบชนชั้นสูง ใช้คนทอพร้อมกันถึง 2 คน ในเวลาเดียวกัน การทอต้องทอจากด้านหลังของชิ้นงานเมื่อต้องการมองลายก็ต้องใช้กระจกส่องลายด้านล่าง ลุนตยาอชิค หรือ อะฉิก แปลว่าคลื่น สื่อถึงท้องคลื่นและแสดงนัยยะ ทางพระพุทธศาสนา คลื่นและลวดลายเหมือนทะเลสีทันดร และ เขาสัตตบริภัณฑ์ ทั้ง7 รอบเขาพระสุเมรุ

ประเพณีวัฒนธรรมทางสังคม
เรื่องประเพณีและวัฒนธรรม หากใครที่เป็นแฟนนิยายนักอ่าน ก็จะได้สัมผัสกลิ่นอายของประเพณีและวัฒนธรรมแบบเต็มเปี่ยม หากแต่ในละคร ได้หยิบยกฉากสำคัญ ๆ ที่หลายคนคงได้ดูกันนั่นคือ พระราชพิธีเจาะพระกรรณ ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีสำคัญ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีพระราชพิธีนี้อยู่จริง กล่าวคือ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ซึ่งทรงได้รับการกล่าวขานว่าเป็นกษัตริย์นักรบที่เก่งกาจ เพราะตลอดรัชกาลพระองค์ทำสงครามเป็นส่วนใหญ่ โดยก่อนขึ้นครองราชย์ เมื่อเจริญพรรษาขึ้น ราว15พระชันษา ทรงกระทำพิธีเจาะพระกรรณ(เจาะหู) อันเป็นราชประเพณีของพม่าเช่นเดียวกับพระราชพิธีโสกันต์ของไทย หรือแม้กระทั่งการสักลายของชาวพม่า ที่ในเรื่องจะได้เห็นมินพัยู สักสะกดวิญญาณของเอละวินไว้ให้อยู่ทุกข์ทรมาน และไม่ตาย และฉากย้อนอดีต ที่ติณโณสักมนต์กำบังกาย ให้กับ เจ้าหญิงมินพยู แต่ก็ไม่สำเร็จ จนทำให้ตัวอัปรีย์เข้าจนกลายเป็นอาเพศ นั่นแสดงให้เห็นว่า ชาวพม่านิยมสักลายตามจุดสำคัญทั่วตัวเช่น ต้นคอ ไหล่ ท้ายทอ หัวจรดเท้า เชื่อว่าเป็นการป้องกันอันตราย อยู่ยงคงกระพัน และเชื่อว่าการสักนั้นมีไสยเวทย์อาคม คล้ายกับเครื่องรางของขลังรวมถึงมีการลงโทษนักโทษด้วยการสัก

ได้เรียนรู้เรื่องภาษา
ในละครเรื่องเล่ห์ลุนตยาจะมีคำศัพท์ที่เราไม่คุ้นหูมากมาย ที่ตัวละครใช้พูดสื่อสารกันในแต่ละฉาก ยกตัวอย่างฉากที่เอละดา ยกสำรับมาให้คุณเทียด แต่คุณเทียดก็ไม่ทานบอกว่าจะเอาไปถวายนัต โดยความหมายของนัต แท้จริงแล้วหมายถึง ผีอารักษ์ในสังคมพม่า คือเหล่าเทพเทวบนชั้นฟ้าผู้ปะเสริฐ และวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของผู้ตายร้าย ภูติปุถุชน ที่มีความกึ่งเทพกึ่งผี ซึ่งในละคร ตัวละครคุณชวดเอละวิน นั้นหมายถึงดวงวิญญาณของเจ้าหญิงมินพยู ที่ตนรักและเคารพนั่นเอง หรือจะเป็นคำว่า เล็บปยา หรือ เล็บยา ที่ในละครเล่ห์ลุนตยา ได้เล่าไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องเลยว่า หากใครที่นำผ้าลุนตยาไปใส่ จะทำให้เล็บยานั้นหายไปจนสติฟั่นเฟือน ดั่งตัวละครอะพิณยาที่เป็นเพื่อนกับเอลดาในวัยเด็กที่หยิบผ้าลุนตยามาใส่เล่นจนทำให้ถูกโขมยเล็บยา จนสติฟั่นเฟือน โดยเล็บยาแปลว่า ผีเสื้อเนื่องจากสามารถโบยบินออกจากสิ่งที่เกาะอยู่ได้ หากร่างกายได้รับการกระทบกระเทือน ก็จะส่งผลให้จิตใจได้รับผลกระทบ หากโบยบินหายไปจากร่างกายทำให้ร่างกายมีสภาพไม่มีชีวิตชีวา เหม่อลอย เจ็บป่วย หรือมีอาการทางจิต วิธีการรักษาทางจิตใจด้วยการให้กำลังใจ ที่เรียกว่า เรียกขวัญ หรือ สู่ขวัญ เพื่อให้ขวัญโบยบินมาสู่ร่างกาย อ้างอิงหนังสือ : พม่าอ่านไทย

สามารถติดตามละคร “เล่ห์ลุนตยา” ได้ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี  เวลา 20.30 น. ทางช่อง 8 กดเลข 27 และสามารถดูย้อนหลังที่แรกบนแอปพลิเคชัน iQIYI และเว็บ www.iQ.com