พช. นำเสนอโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ความยั่งยืนระยะยาว ในเวทีเสวนาธนาคารโลก
16 มิถุนายน 2565 นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “สนทนาความยากจนในชนบทไทย” จัดโดยความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กับธนาคารโลก (The World Bank) โดยมี ดร. เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก คุณนาเดีย เบลฮาจ ฮาสซายน์ เบลกิต นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านความยากจน ธนาคารโลก บรรยายและร่วมตอบคำถาม ในประเด็นความยากจนในชนบทไทยในปัจจุบัน ผ่านทางระบบออนไลน์ Zoom Cloud Meeting ในการนี้คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคร่วมรับฟัง
นายนิวัติ น้อยผาง กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่นำเสนอโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) คือการมุ่งที่จะกำจัดความยากจนในทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้โลกยังเป็นระบบสนับสนุนสิ่งมีชีวิตได้อยู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มุ่งสอนชาวบ้านให้นำไปใช้จนเป็นวิถีชีวิต ผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โครงการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล และโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ เพื่อต่อสู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความยากจน ซึ่งเป็นภัยคุกคามและเป็นปัญหาในการพัฒนาประเทศ เพราะความยากจนถ้าปล่อยไว้อาจจะก่อเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเลื่อมล้ำ โดยได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ. เป็นกลไกในการขับเคลื่อน โดยนำข้อมูลครัวเรือนยากจนในระบบ TPMAP ภายใต้แนวคิด การพัฒนาฐานราก และเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ Change for Good จึงต้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ บุคลากร และงบประมาณดำเนินการแก้ไขปัญหาครัวเรือนเป้าหมาย เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป ที่สำคัญครัวเรือนจะต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ โดยมีชุมชน และรัฐบาล เป็นส่วนช่วยเหลือ