จัดใหญ่! 30 ปี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ระดมนักวิชาการและหน่วยงานภูมิภาค จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ “นวัตกรรมการศึกษาและวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต” ตอกย้ำบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนของธรรมศาสตร์ที่นับเป็นนวัตกรรมด้านการศึกษานับแต่แรกตั้ง
ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา แสดงปาฐกถาพิเศษ ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ “นวัตกรรมการศึกษาและวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต” (Innovative Education and Research for Future Sustainable Development) เนื่องในโอกาสครบรอบ 88 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 30 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2565 เพื่อเป็นเวทีในการเดินหน้าพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยมีนักวิชาการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ พร้อมด้วย สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงาน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า งานในครั้งนี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 88 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 30 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เพื่อเป็นเวทีในการเดินหน้าพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน และยังเป็นการตอกย้ำบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่
“เมื่อพูดถึงจังหวัดลำปาง คนมักจะคิดถึงแต่เซรามิก แต่งานในวันนี้เน้นเรื่อง สมุนไพรและแพทย์แผนไทย ถือเป็นนวัตกรรมอีกเช่นกัน ธรรมศาสตร์เองก็มีศูนย์ยาแห่งใหญ่ของประเทศไทย ดังนั้นการทำงานภายใต้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนย่อมจะช่วยให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าถ้าเราทุกคนช่วยกันคิดช่วยกันทำก็สามารถทำนวัตกรรมใหม่ใหม่ได้ด้วยตัวเอง จึงอยากให้กำลังใจเราทุกคนว่า ในด้านการศึกษา ในการสร้างนวัตกรรมโลกทุกภาคส่วนมีความสำคัญมาก ถ้าเราอยู่นิ่ง ไม่ทำอะไรเลย นวัตกรรมก็ไม่เกิด ดังนั้นนวัตกรรม เป็นคำที่อยากให้มีอยู่ในใจแล้วก็ช่วยกันเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาของประเทศไทยอย่างยั่งยืน” ประธานกรรมการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวย้ำ
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา แก้วละเอียด รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์ลำปางและกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มต้นพิจารณาการขยายการศึกษาไปสู่ภูมิภาคอย่างจริงจัง เมื่อปีการศึกษา 2535 ต่อมาเมื่อทบวงมหาวิทยาลัยขณะนั้นมีนโยบายขยายโอกาสทางศึกษาที่มีคุณภาพไปสู่ภูมิภาคในรูปของโครงการขยายวิทยาเขต พร้อมทั้งพัฒนาโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีมติให้ดำเนินโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ขึ้น เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2539 ด้วยการเล็งเห็นถึงความพร้อมและความเหมาะสม ของจังหวัดลำปางในฐานะที่จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการศึกษาในเขตภาคเหนือ และได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง มายังจังหวัดลำปางเป็นครั้งแรก จากนั้นมหาวิทยาลัยได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารและปรับปรุงภูมิทัศน์ที่ศูนย์ลำปางอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขายการเรียนการสอนและจำนวนนักศึกษาและบุคลากรที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางมีการเรียนการสอน 6 คณะ
“การจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ “นวัตกรรมการศึกษาและวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต” ครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง โดยนอกจากงานประชุมวิชาการแล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมการศึกษาและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน” โดย คุณตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง การเสวนาวิชาการด้านการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์แผนไทย หัวข้อ “ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรต้านภัยโควิด” และหัวข้อ “รู้ไว้ ใช้เป็นกัญชาทางการแพทย์” และเผยแพร่ผลงานทางวิชาการเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ พร้อมกันนั้นยังมีกิจกรรมให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน โดยความร่วมมือจากสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์และจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งมหกรรมสมุนไพร เพื่อนำเสนอคุณค่าและศักยภาพของสมุนไพรไทยในพื้นที่จังหวัดลำปางที่สามารถนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนตามแนวทางการขับเคลื่อนของประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อีกด้วย” รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์ลำปางและกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจมากมายทั้งงานมหกรรมสมุนไพรจังหวัดลําปางที่ได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดลําปาง สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดลําปาง ชมรมครูทัศนศิลป์จังหวัดลําปาง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ภายในงานได้รวบรวมผลงานนิทรรศการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านจังหวัดลําปาง 13 อําเภอ และจําหน่ายสินค้าแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน ของร้านค้าเอกชนจังหวัดลําปาง รวมไปถึงการให้ บริการคลินิกแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ และกิจกรรมเวิร์คช็อปศิลปะจากสีสมุนไพร และ การให้บริการตรวจรักษาและให้คําแนะนําสําหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา บริการตรวจวัดสายตาด้วย เครื่องมือที่มีมาตรฐาน พร้อมมอบแว่นสายตาให้ฟรีสำหรับบริการประชาชน