เปิดกรุเครื่องทรงล้ำค่าแห่งราชวงศ์อังกฤษ ในพิธีราชาภิเษก ‘กษัตริย์ชาร์ลส์’ 6 พ.ค.นี้

งานพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2023 ที่ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในลอนดอน โดยพิธีนี้ถูกตั้งชื่อรหัสว่า Operation Golden Orb

ในระหว่างพิธี กษัตริย์จะสวมมงกุฎร่วมกับ ‘คามิลลา’ พระมเหสีที่กำลังจะก้าวไปสู่ตำแหน่งราชินีอย่างเป็นทางการ พิธีมีกำหนดการเริ่มตั้งแต่เวลา 11:00 น. โดยคาดว่า ขบวนของกษัตริย์ชาร์ลส์จะมาถึง Westminster Abbey ก่อนเวลาเล็กน้อย

พิธีราชาภิเษกเป็นทั้งพิธีทางศาสนาเชิงสัญลักษณ์ในระหว่างที่กษัตริย์สวมมงกุฎอันเป็นการทำให้บทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ เป็นไปอย่างทางการ และเป็นเครื่องหมายของการโอนตำแหน่งแห่งอำนาจ

พิธีบรมราชาภิเษกนี้ รัฐบาลอังกฤษจะเป็นผู้ควบคุมรายชื่อแขก ซึ่งนอกจากสมาชิกราชวงศ์แล้ว ผู้ที่ได้รับเชิญจะรวมถึงนายกรัฐมนตรี ผู้แทนจากรัฐสภา ประมุขแห่งรัฐ และราชวงศ์อื่นๆ จากทั่วโลก

รายงานข่าวระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วมงานแต่ ‘จิลล์ ไบเดน’ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งจะไปแทน นอกจากนี้ตัวแทนชุมชน 850 คนได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีเพื่อระลึกถึงการอุทิศตนเพื่อการกุศลของพวกเขาด้วย โดยบัตรเชิญแขกที่มาร่วมพิธีสำคัญนี้ ออกแบบโดยนักวาดภาพประกอบของอังกฤษ “แอนดรูว์ เจมีสัน” บัตรเชิญนี้จะมีภาพบุคคลในตำนานพื้นบ้าน “มนุษย์สีเขียว” (Green Man) พร้อมด้วยไม้เลื้อย ต้นฮอว์ธอร์น และใบโอ๊ก

บัตรเชิญร่วมพิธีบรมราชาภิเษก

พิธีราชาภิเษกยังคงขนบธรรมเนียมดั้งเดิมที่ดำเนินมากว่า 1,000 ปี ไว้เหมือนเดิม อันเป็นพิธีเก่าแก่ของอังกฤษ ซึ่งเป็นแห่งเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ในยุโรป

อย่างไรก็ตาม พิธีการต่างๆ ครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะสั้นและกระชับเวลา มากกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 1953 ซึ่งครั้งนั้นมีพิธีการทางศาสนาที่มีรายละเอียดมากกว่า

ขบวนแห่ฉัตรมงคลก็คาดว่าจะมีความเรียบง่ายมากขึ้นเช่นกัน ขบวนแห่ของควีนเอลิซาเบธมีผู้เข้าร่วม 16,000 คน ใช้เวลา 45 นาที เพื่อผ่านจุดที่หยุดนิ่งบนเส้นทาง 7 กม. (4.3 ไมล์) แต่ครั้งนี้ กษัตริย์ชาร์ลส์และพระมเหสีคามิลลา จะเสด็จไปยังเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ด้วยรถม้าที่ค่อนข้างทันสมัย ซึ่งมีกระจกไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ

สำหรับพิธีกรรมสำคัญที่เป็น “หัวใจของพิธีราชาภิเษก” นี้คือ “การเจิมมงกุฎ” ซึ่งประกอบพิธีโดย ‘อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี’ ที่จะเป็นผู้เจิมมงกุฎแห่งกษัตริย์ และกษัตริย์จะสวม “มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด” (St. Edward’s Crown) ที่ทำจากทองคำแท้ประดับด้วยพลอยมีค่า 444 เม็ด น้ำหนักเกือบ 5 ปอนด์ ที่ตกทอดมาจากศตวรรษที่ 17 และจะใช้เฉพาะในพิธีราชาภิเษกช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

มงกุฎที่ใช้ในพิธีนี้อีกชิ้นหนึ่งคือ ‘มงกุฎอิมพีเรียลสเตท’ ซึ่งพระมหากษัตริย์จะทรงสวมเมื่อสิ้นสุดพิธีราชาภิเษก และตอนเสด็จออกพระระเบียงพระราชวังบักกิงแฮม โดย
มงกุฎนี้ทำจากเพชร Cullinan II ที่เรียกกันว่า “Second Star of Africa” (ดวงดาวที่สองแห่งแอฟริกา) ซึ่งรัฐบาลทรานสวาล อดีตอาณานิคมของอังกฤษ (ปัจจุบันคือแอฟริกาใต้) ถวายแก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ในวันเฉลิมพระชนมายุปีที่ 66

มงกุฎอิมพีเรียลสเตทจะสวมใส่ในโอกาสที่เป็นทางการของรัฐ เช่นช่วงเปิดรัฐสภาประจำปี ตัวมงกุฎมีน้ำหนักเบากว่ามงกุฏเซนต์เอ็ดเวิร์ดมาก ความหรูหราอลังการคือ มงกุฎนี้ประดับด้วยเพชร 2,868 เม็ด

ในพิธีนี้กษัตริย์จะต้องถือ “ลูกโลกของจักรพรรดิ” ที่เป็นมรดกล้ำค่า สร้างขึ้นในยุคกลาง ค.ศ.1661 แสดงถึงอำนาจของกษัตริย์ และโลกของชาวคริสต์ ประดับด้วยมรกต ทับทิม ไพลิน เพชร และไข่มุก โดยในพิธีนี้ลูกโลกทองคำจะวางไว้ที่พระหัตถ์ขวาของพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาแห่งการสวมมงกุฎ

ส่วนพระมเหสีคามิลลา จะสวม ‘มงกุฎควีนแมรี’ ซึ่งถูกนำออกจากหอคอยแห่งลอนดอน เพื่อปรับขนาดก่อนเริ่มพิธีในวันดังกล่าวแล้ว มงกุฎเก่าแก่นี้ควีนเอลิซาเบธ พระราชมารดาของกษัตริย์ เคยสวมใส่ในปี 1937 ทำจากทองคำขาว ประดับเพชรโคอีนัวร์ พร้อมด้วยอัญมณีอื่นๆ

พระมเหสีคามิลลา จะพ้นจากตำแหน่ง “มเหสี” สู่การเป็น “ราชินี”  ทันทีที่ทรงสวมมงกุฎนี้ในวันที่ 6 พฤษภาคม มงกุฎเพชรนี้เป็นคอลเลกชั่นส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับ ซึ่งพระองค์มักจะถอดเพชรยอดมงกุฎมาใช้เป็นเข็มกลัด

สิ่งล้ำค่าที่เป็นมรดกตกทอดของราชวงศ์อังกฤษอีกอย่างในการประกอบพิธีนี้คือ ‘ฉลองพระองค์’ อันประเมินค่าไม่ได้ซึ่งถูกเก็บไว้กับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ภายในหอคอยแห่งลอนดอน และจะถูกนำออกมาใช้ในระหว่างพิธีการอันประณีตวันที่ 6 พฤษภาคม นี้ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ และพระราชินีคามิลลา ที่จะขึ้นครองราชย์อย่างสมบูรณ์ในวันนั้น

ฉลองพระองค์ที่ทำจากทองคำนี้ เคยถูกใช้มาตั้งแต่พระมารดา พระอัยกา และพระปัยกาของกษัตริย์ชาร์ลส์เคยสวมใส่มาก่อน และพระองค์จะนำมาใส่ซ้ำระหว่างพิธีราชาภิเษกที่ Westminster Abbey

Caroline de Guitaut รองผู้ตรวจการศิลปะของ King’s Works of Art แห่ง Royal Collection Trust จะเป็นผู้ช่วยเตรียมฉลองพระองค์อันล้ำค่าสำหรับพิธีนี้ แคโรไลน์กล่าวว่า “ผ้าเหล่านี้เป็นสิ่งทอที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดใน Royal Collection และมีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวข้อง โดยถูกสวมใส่ในพิธีราชาภิเษกหลายครั้งทั้งในศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20 เป็นอาภรณ์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีความศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นอาภรณ์ที่ใช้ในพิธีราชาภิเษก”

หลังพิธีการเจิม กษัตริย์จะสวม Colobium Sindonis ซึ่งเป็นเสื้อคลุมผ้าลินิน อันเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และเรียบง่ายซึ่งทำขึ้นเพื่อพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 6 (พระอัยกาของกษัตริย์ชาร์ลส์) ในปี 1937 จากนั้นจะสวม Supertunica (เสื้อคลุมทองคำสำหรับใส่ในพิธีราชาภิเษก) และเข็มขัดดาบคาดเอว

Supertunica มีต้นแบบมาจากเสื้อคลุมของนักบวชที่สวมใส่ในพระราชพิธี ซึ่งย้อนไปถึงสมัยไบแซนไทน์ มันถูกสร้างขึ้นสำหรับพิธีราชาภิเษกของ King George V ในปี 1911 ตัดเย็บโดย Wilkinson & Sons ผู้ผลิตเสื้อคลุมในราชสำนัก โดยตัวเสื้อเป็นผ้าแขนยาว ทั้งตัวมีน้ำหนักประมาณ 2 กก. ทำจากผ้าสีทอง ทอด้วยเส้นไหมทองคำ ทำให้ได้ผ้าที่ระยิบระยับแต่มีน้ำหนัก ชายเสื้อด้านหน้าแบบเปิดมีขอบปักด้วยงานทอง ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษที่ใช้ด้ายทองประเภทต่างๆ  มาทอ และปักดอกกุหลาบ ดอกธิสเซิล และดอกแชมร็อก อันเป็นตราสัญลักษณ์ประจำชาติและราชวงศ์ พร้อมด้วยนกอินทรี ที่เป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ

ส่วนเข็มขัดราชาภิเษกหรือเข็มขัดดาบทำจากผ้าทองคำและปักด้วยการออกแบบที่คล้ายกับ Supertunica หัวเข็มขัดสีทองถูกไล่ลายและสลักสัญลักษณ์ประจำชาติเช่นกัน กษัตริย์จะสวมเข็มขัดนี้ทับ Supertunica และ Colobium Sindonis

นอกจากเสื้อคลุมของจักรพรรดิ ของล้ำค่าที่ตกทอดมาจากพระเจ้าจอร์จที่ 4 แล้วยังมี ถุงมือสีขาวที่พระอัยกา (พระเจ้าจอร์จที่ 6) เคยสวมใส่ในปี 1937 ถุงมือราชาภิเษกนี้ จะสวมที่มือขวาเพื่อถือคทาจักรพรรดิ ผลิตโดย Dents ผู้ผลิตถุงมือและปักโดย Edward Stillwell & Company

“ตามธรรมเนียมแล้ว ถุงมือจะสวมที่มือขวาสำหรับถือคทาของจักรพรรดิ อันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีราชาภิเษกในสมัยโบราณ” แคโรไลน์ ผู้จัดเตรียมฉลองพระองค์กล่าว

ส่วนผ้าคาดเอวหรือที่เรียกว่า Coronation Sword Belt ทำจากผ้าทองคำและปักด้วยด้ายสีทองเป็นภาษาอาหรับ และบุด้วยผ้าไหมสีแดงเข้ม พร้อมหัวเข็มขัดสีทองประทับตราสัญลักษณ์ประจำชาติ (กุหลาบ มีหนาม และดอกแชมร็อก) และคลิปหนีบทองคำสำหรับติดดาบอัญมณี เข็มขัดดาบจะคาดไว้ที่เอวของกษัตริย์

“ตามปกติแล้วสายคาดเอวและถุงมือจะทำขึ้นใหม่ แต่ชาร์ลส์เลือกที่จะนำสิ่งที่ทำเพื่อปู่ของเขาในปี 1937 มาใช้ซ้ำ” แคโรไลน์เผย

โดยปกติแล้ว เครื่องแต่งกายล้ำค่าเหล่านี้จะถูกเก็บไว้กับมงกุฎเพชรในหอคอยแห่งลอนดอน แต่จะถูกนำออกจากปราสาทที่มีกำแพงล้อมรอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมรักษาความปลอดภัยมูลค่า 150 ล้านปอนด์ ที่ขนานนามว่า “หอปฏิบัติการแห่งลอนดอน”

และทั้งหมดนี้ คือฉลองพระองค์สำคัญที่พระเจ้าชาร์ลส์จะทรงเจริญรอยตามกษัตริย์แห่งศตวรรษที่ 20 ด้วยการสวมชุด Supertunica ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับพระเจ้าจอร์จที่ 5 ในปี 1911 และสวมเสื้อคลุมของพระเจ้าจอร์จที่ 4 ซึ่งแคโรไลน์ กล่าวว่าการเลือกของพระมหากษัตริย์ทั้งหมดนี้เป็น “การตัดสินใจส่วนตัวของพระองค์เอง” และเสริมว่า “มันสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนและประสิทธิภาพที่จะนำผลงานเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ และยังสะท้อนถึงพิธีราชาภิเษกกษัตริย์จอร์จที่ 6 ปู่ของพระองค์ด้วย”

เรียบเรียงข้อมูลจาก :
https://www.theguardian.com
https://www.mirror.co.uk

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *