16 เมษายน 2563 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ติดอาวุธเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ปั๊มรายได้สู้พิษโควิด-19 ด้วย 5 อุตสาหกรรมครัวเรือน ครอบคลุมประเภทสมุนไพร อาหาร เครื่องดื่ม แฟชั่น และของใช้ ได้แก่ 1.กลุ่มสมุนไพรแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร โดยการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ด้วยเทคโนโลยีฟรีซดรายและอบแห้ง เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและคงสภาพรสชาติเดิม 3. กลุ่มแปรรูปผลไม้สดเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่มวิตามินซีสูง เสริมภูมิคุ้มกัน 4. กลุ่มสิ่งทอ ต่อยอดวัตถุดิบผ้าสู่หน้ากากผ้า หรือดัดแปลงสู่นวัตกรรมสิ่งทอสีเขียวด้วยความคิดสร้างสรรค์ และ 5. กลุ่มงานคราฟต์รักษ์โลก ปั้นวัตถุดิบท้องถิ่นสู่งานคราฟต์รักษ์โลกที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ แต่คงความโดดเด่นทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ หลังพบสถานประกอบการ 35,068 แห่ง และผู้ประกันตน 644,136 คน ขาดรายได้จากการปิดบริการชั่วคราว พร้อมแนะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยกระจายสินค้า
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีสถานประกอบการและผู้ประกันตนได้รับความเสียหายด้านรายได้ และว่างเว้นจากการทำงานจากการปิดบริการชั่วคราว โดยครอบคลุมสถานประกอบการ 35,068 แห่ง และผู้ประกันตน 644,136 คน (ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม ณ เดือนมีนาคม 2563) ดังนั้น เพื่อเป็นการผลักดันให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน และผู้ว่างงานอยู่รอด ด้วยภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) วางแนวทางปั้นงานสร้างรายได้เยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ สามารถสร้างอาชีพทำเงินได้ด้วย 5 อุตสาหกรรมครัวเรือน ครอบคลุมประเภทสมุนไพร อาหาร เครื่องดื่ม แฟชั่น และของใช้ ภายใต้แนวคิด “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm)” โดยมีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มสมุนไพรแปรรูป การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก แต่อย่างไรก็ดี ยังนับเป็นโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ซึ่งจากปีที่ผ่านมามีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 18,200 ล้านบาท และปีนี้คาดว่า ตลาดดังกล่าว จะมีโอกาสเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 ล้านบาท (ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) จึงถือเป็นหนึ่งในธุรกิจครัวเรือนที่น่าสนใจ ด้วยการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยใช้ภูมิปัญญาที่มีอัตลักษณ์อย่าง การนำพืชสมุนไพร หรือพืชที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลัก มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล อาทิ สบู่เหลวล้างมือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย แชมพู และอาหารเสริมสุขภาพ ฟ้าทะลายโจร น้ำขิงสำเร็จรูป อย่างไรก็ดี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ควรสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์โดดเด่น และตราสินค้าให้มีความแตกต่าง เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร แม้ปัจจุบันภาคการเกษตร ยังคงได้รับผลกระทบหนักจากข้อจำกัดด้านการกระจายผลผลิตและการส่งออก อีกทั้งปัญหาราคาตกต่ำจากสินค้าล้นตลาด ดังนั้น การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่สามารถเก็บรักษา ได้นานในอุณหภูมิปกติ และคงรสชาติ สี กลิ่นเดิมของอาหารนั้น ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สร้างรายได้แก่เกษตรและผู้ประกอบการ อาทิ การใช้เทคโนโลยีฟรีซดราย (Freeze Drying) ในเมนูอาหาร ผัก หรือผลไม้ และเทคโนโลยีอบแห้ง โดยในปี พ.ศ. 2563 กสอ. เตรียมงบประมาณ 5 ล้านบาท สำหรับโครงการเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแบบครบวงจร เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ 160 ราย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหาร 5 ผลิตภัณฑ์
กลุ่มแปรรูปผลไม้ ในช่วงที่คนไทยตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของโรคติดโควิด-19 หนึ่งในวิธีลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือ การดื่มเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี ดังนั้น ธุรกิจในครัวเรือน ที่สามารถดำเนินการได้และเป็นการสร้างรายได้เสริม ด้วยการนำผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงนำมาแปรรูปในน้ำผลไม้พร้อมดื่ม อาทิ น้ำส้ม น้ำฝรั่ง น้ำกีวี น้ำสตรอเบอร์รี่ น้ำมะนาว ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสี ล้วนเป็นเครื่องดื่มเสริมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันทั้งสิ้น สำหรับกลุ่มธุรกิจแปรรูปผลไม้ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยในปี 2563 กสอ.เตรียมงบประมาณเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปกว่า 28 ล้านบาท เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ 1,400 ราย และพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป 200 ผลิตภัณฑ์
กลุ่มสิ่งทอ ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาด ผู้ประกอบการสิ่งทอสามารถต่อยอดวัตถุดิบผ้าอย่าง “ผ้ามัสลิน” สู่หน้ากากผ้าได้ เนื่องจากผ้าดังกล่าว มีประสิทธิภาพในการป้องกันละอองฝอยได้ดี (ที่มา: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) นอกจากนี้ ด้วยกระแสของผลิตภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติที่ได้รับความนิยมและเป็นเทรนด์สิ่งทอในอนาคต จึงเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการสิ่งทอในการพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอสีเขียว อาทิ ‘ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม’ ผ้าทอจากธรรมชาติที่ให้คุณค่าทางวัฒนธรรม ‘กระเป๋าแฟชั่นจากเส้นใย’ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตร ด้วยความคิดสร้างสรรค์
กลุ่มงานคราฟต์รักษ์โลก แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยยังไม่คลี่คลาย แต่กระแสกรีนมาร์เก็ต (Green Market) ที่เน้นการเลือกใช้วัสดุ หรือการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังเป็นเทรนด์ที่มาแรงในปีนี้และอีกหลายปีข้างหน้า ดังนั้น อุตสาหกรรมหัตถกรรม สามารถระดมสมองต่อยอดแนวคิด ปั้น “วัตถุดิบท้องถิ่น” สู่ “งานคราฟต์รักษ์โลก” ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ แต่คงความโดดเด่นทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ อาทิ กระเป๋ากระจูดไซส์มินิ ดีไซน์เก๋ สำหรับใส่สมาร์ทโฟน หรือหน้ากากอนามัย ฯลฯ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม ถือเป็นหนึ่ง ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพสูงและน่าจับตามอง โดยปีที่ผ่านมามีมูลค่า ทางเศรษฐกิจสูงถึง 8.7 หมื่นล้านบาท (ที่มา : ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ)
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาเป็นช่องทางเสริม เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าในภาวะวิกฤตได้ อาทิ เฟซบุ๊ก (Facebook) ไลน์ (Line) อินสตาแกรม (Instagram) ตลอดจนการขนส่งแบบเดลิเวอรี่ (Delivery) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถเรียนรู้บนออนไลน์ไลฟ์สตรีม ภายใต้โครงการ “ปั้น SMEs ค้าออนไลน์สู้วิกฤตโควิด-19” จากทาง กสอ. โดยเปิดคอร์สการอบรมหลากหลาย อาทิ การกระตุ้นยอดขายด้วยกูเกิ้ลแอดเวิร์ด (Google Adwords) การขายสินค้าผ่านยูทูป (You Tube) และเทคนิคกระตุ้นยอดขายด้วยภาพถ่ายและวีดีโอ เพื่อเพิ่มทักษะด้านการตลาดแพลตฟอร์มออนไลน์ และสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจโครงการต่าง ๆ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-17 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dipindustry