สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 มีแนวโน้มการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและเพิ่มมากขึ้น จนรัฐบาลภายใต้การนำของ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาตรการต่างๆ ที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อลดการแพร่ระบาดอีกทั้งยังได้กำชับให้ทุกหน่วยงานราชการตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ เร่งใช้แนวทางหรือภารกิจที่รับผิดชอบ เยียวยาและช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยของเราจะต้องสามารถฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้
“พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวเรือใหญ่ที่กำกับดูแลกรมการพัฒนาชุมชน หน่วยงานที่มีบุคลากรทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้านในชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศ ก็ไฟเขียวให้ “นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งปกติก็ลงพื้นที่สำรวจตรวจตราสารทุกข์สุกดิบของพี่น้องประชาชนเป็นประจำ เร่งออกมาตรการทั้งช่วยเหลือและเยียวยา ผ่านภารกิจงานที่กรมการพัฒนาชุมชนรับผิดชอบได้เต็มที่ล่าสุดเมื่อต้นเดือน อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ก็นั่งหัวโต๊ะเคาะมาตรการประกาศพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่สมาชิกที่เป็นลูกหนี้กองทุนฯ ออกไปอีก 12 เดือน
“สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและชีวิตประจำวันของสมาชิกลูกหนี้ที่กู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาและช่วยเหลือสมาชิกในการชะลอการชำระหนี้ อีกทั้งเพื่อเป็นการประคับประคองให้สตรีมีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตินี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จึงมีมติให้ดำเนินการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ เป็นระยะเวลา 12 เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยในระหว่างการพักชำระหนี้ ทั้งดอกเบี้ยตามสัญญา ดอกเบี้ยผิดนัด และเบี้ยปรับ ทั้งนี้ หลังจากกรมฯ ได้รับเรื่องขอพักชำระหนี้แล้ว คณะกรรมการจะพิจารณาดำเนินการอย่างเร็วที่สุด และหวังว่ามาตรการนี้จะสามารถประคับประคองให้ทุกท่านผ่านพ้นภาวะวิกฤตินี้ไปได้…”
งานนี้ต้องบอกว่าเป็นมาตรการที่เยียวยากลุ่มอาชีพได้ทั่วประเทศ เพราะมีสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีซึ่งเป็นลูกหนี้ที่มีสิทธิ์และเข้าหลักเกณฑ์ได้พักชำระหนี้ถึง 49,803 โครงการ (จำนวน 249,015 คน) มูลค่าหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท (4,034,761,335.95 บาท) เลยทีเดียว
นี่เป็นเพียงมาตรการหนึ่งของกรมการพัฒนาชุมชนเท่านั้น โดยจะมีแนวทางอื่นๆ ออกมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้ความช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมายที่ยืมเงินโครงการแก้ปัญหาความยากจน หรือ “กข.คจ.” และล่าสุดยังมีแผนปฏิบัติการ 90 วัน “Quick Win” ปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ต้านภัยโควิด-19 ที่เริ่มดำเนินการแล้วทุกจังหวัด มีเสียงขานรับอย่างล้นหลาม เพราะทุกคนสามารถลงมือได้เอง ซึ่งกรมฯ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักให้ 5 ชนิด โดยอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนได้ฝากว่า เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทุกครัวเรือนสามารถทำได้ เพราะการสร้างความมั่นคงทางอาหาร คือการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต และเชื่อว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้อย่างแน่นอน