หลังจากส่งดาวเทียมธีออส-2 (THEOS-2) สำเร็จราบรื่นเมื่อ 08.36 น. วานนี้( 9 ต.ค.66) GISTDA เผย THEOS-2 ติดต่อสถานีควบคุมดาวเทียมที่ศรีราชาเป็นครั้งแรกได้สำเร็จหลังเข้าสู่วงโคจร และต่อจากนี้ดาวเทียมจะเข้าสู่โหมดปฏิบัติภารกิจ ทดสอบระบบควบคุมและการรับสัญญาณกับสถานีภาคพื้นดินเพื่อความเสถียรและแม่นยำของข้อมูล คาดใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หรือช้าสุดไม่เกิน 6 เดือน
มีการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 (Thailand Earth Observation Satellite 2) ขึ้นสู่วงโคจรจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา(Guiana Space Center) เมืองกูรู เฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ โดยมี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA รวมทั้งสักขีพยานจากประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศสรวมถึงประชาชนทั่วโลก ที่สนใจในเหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้ เมื่อถึงเวลา 08.36 น.ตามเวลาในประเทศไทย ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ได้ถูกนำส่งด้วย จรวด VEGA พร้อมมีการให้สัญญาณนับถอยหลังใน 10 วินาทีสุดท้ายหลังจากนั้นดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรท่ามกลางความตื่นเต้นดีใจ หลังจากลุ้นระทึกโดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งสำคัญต่างพากันจับมือแสดงความยินดี
โดยปฏิบัติการครั้งนี้ มาจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA, Arianespace และ AIRBUS ได้นำส่งดาวเทียม THEOS-2 ด้วยจรวด Vega ขึ้นสู่วงโคจรอีกครั้งที่ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา ประเทศฝรั่งเศส ทวีปอเมริกาใต้ หลังจากที่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา พบสาเหตุการยุติการนำส่งเกิดจากช่วงเวลา 14 วินาทีสุดท้าย หรือ ‘เรด สเตตัส’ ระบบได้ตรวจพบความผิดปกติเล็กน้อยของสัญญาณจากอุปกรณ์ในจรวดนำส่ง จึงส่งผลให้ระบบตัดการทำงานโดยอัตโนมัติ
ครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลกจากฝีมือคนไทยขึ้นสู่วงโคจรอวกาศเพื่อปฏิบัติภารกิจในอวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีของประเทศไทย!
ทำความรู้จักดาวเทียม THEOS-2
สำหรับดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศที่สำคัญของประเทศ โดยใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ส่วนข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะถูกใช้ปรับปรุงและทำให้ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยเป็นปัจจุบัน ทันสมัย และมีความละเอียดถูกต้อง
THEOS-2 เป็น ‘ดาวเทียมสำรวจโลก’ หรือ Earth observation satellite หนึ่งในสองดวงที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา ที่ดำเนินการโดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ได้ถูกพัฒนาขึ้นจากวิศวกรดาวเทียมไทยกว่า 20 คน ออกแบบและพัฒนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างดาวเทียมจากบริษัท Surrey Satellite Technology หรือ SSTL ณ สหราชอาณาจักร เป็นเวลากว่า 2 ปี
วัสดุที่ใช้ในการประกอบร่างดาวเทียมดวงนี้ ใช้วัสดุหลักๆ 3 ชนิด ได้แก่ อลูมิเนียมเกรดพิเศษ แผ่นผนังรังผึ้ง และคาร์บอนไฟเบอร์ โดยวัสดุอลูมิเนียมจะถูกออกแบบเป็นโครงสร้างหลักของดาวเทียม เพื่อใช้เป็นโครงหลักในการยึดอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน และยังเป็นส่วนที่รับแรงมากที่สุดของดาวเทียม ส่วนแผ่นผนังรังผึ้ง และคาร์บอนไฟเบอร์เป็นโครงสร้างของแผงโซลาเซลล์ด้านนอก ที่เน้นให้มีน้ำหนักเบา และแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งนี้การเลือกใช้วัสดุแต่ละชนิด จะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละวัสดุ เพื่อลดน้ำหนักโดยรวมของดาวเทียม รวมถึงลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการพัฒนา ออกแบบ ผลิต ประกอบ และทดสอบดาวเทียม
“ธีออส-2” เป็นดาวเทียมสำรวจโลก ประเภทวงโคจรต่ำ(Low Earth Orbit : LEO) ที่โคจรอยู่ในห้วงอวกาศด้วยความสูง 621 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก โดยปกติกลุ่มดาวเทียมประเภท LEO นี้ จะมีความสูงการโคจรไม่เกิน 2,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก แตกต่างจากกลุ่มดาวเทียมอื่นๆ เช่น ดาวเทียมสื่อสารที่มีความสูงวงโคจรเหนือพื้นโลกประมาณ 36,000 กิโลเมตร จะโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 4 รอบ แบ่งเป็นช่วงเวลากลางวัน 2 รอบ และช่วงเวลากลางคืนอีก 2 รอบ เมื่อดาวเทียม THEOS 2 โคจรผ่านประเทศไทย สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมซึ่งตั้งอยู่ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จะทำการเชื่อมต่อกับดาวเทียม THEOS 2 เพื่อดาวน์โหลดข้อมูลภาพที่ดาวเทียมถ่ายและบันทึกไว้บนตัวดาวเทียม อัพโหลดคำสั่งถ่ายภาพสำหรับภารกิจใหม่ รวมถึงตรวจสอบสุขภาพโดยรวมของดาวเทียม โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 15 นาที
THEOS-2 ทำอะไรได้บ้าง?
แม้ไทยจะเคยมีดาวเทียมดวงแรกมาแล้วคือ Thaicom (ไทยคม) ถือกำเนิดมาตั้งแต่พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นผลงานของบริษัท ชินวัตร แซทเทลไลท์ บริษัทใน Shin Corp ของตระกูลชินวัตร(ภายหลังถูกขายให้กับ Temasek Holdings ปัจจุบันชื่อว่า Intouch ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทแม่ของ AIS) ปัจจุบันดาวเทียมไทยคมก็ยังคงทำงานอยู่ในวงโคจร อย่างไรก็ตามดาวเทียมไทยคมไม่ได้ถูกพัฒนาโดยฝีมือคนไทย
สำหรับธีออส-2 ดาวเทียมที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทยดวงนี้ มีศักยภาพโดดเด่นคือ สามารถถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน และข้อมูลที่ได้นั้น สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ และนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึง มาตราส่วน 1 : 1000 และด้วยรายละเอียดภาพ 50 เซนติเมตรต่อพิกเซล นอกจากจะทำให้เห็นลักษณะของวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 50×50 เซนติเมตรแล้วยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของวัตถุนั้นๆ ด้วย เช่น ชนิดของต้นไม้ สีและประเภทของรถยนต์ สภาพของตัวอาคาร ลักษณะความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ จัดการภัยธรรมชาติ การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ
ธีออส-2 ยังสามารถถ่ายภาพได้ทุกพื้นที่ทั่วโลกทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลายทั้งพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม ซึ่ง THEOS-2 เป็นดาวเทียมรุ่นที่ 2 ต่อยอดมาจากTHEOS-1 หรือดาวเทียมไทยโชตที่ส่งขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2551 และเนื่องจากดาวเทียมดวงนี้มีวงโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit) ซึ่งเป็นระนาบการโคจรในแนวเหนือใต้ ประกอบกับการหมุนตัวของโลกเป็นปัจจัยที่ทำให้ดาวเทียมสามารถเข้าถึงทุกพื้นทั่วโลกโดยดาวเทียม ทั้งยังถูกออกแบบให้มีแนวการถ่ายภาพ 386 แนววงโคจร และทุกๆ 26 วันดาวเทียมจะโคจรกลับมายังตำแหน่งเดิม ทั้งนี้ดาวเทียม THEOS-2 ยังมีความสามารถในการเอียงกล้องเพื่อถ่ายภาพทำให้สามารถถ่ายภาพในพื้นที่ต้องการโดยไม่จำเป็นต้องรอถึง 26 วันเพื่อถ่ายภาพซ้ำ ณ พื้นที่เดิม
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ระบุว่า หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว จะทำการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โหมดของการทำงาน รวมทั้งทดสอบระบบควบคุมและติดต่อสื่อสารกับภาคพื้นดินเพื่อความเสถียรและความแม่นยำของข้อมูลโดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดหรือให้การบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในสาขาที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2560 “สำนักข่าวอิศรา” ได้เคยรายงานข่าวเกี่ยวกับ “การตั้งข้อสังเกตปรากฏต่อสาธารณชน ถึงความคลุมเครือ และความเป็นไปได้ที่อาจจะไม่โปร่งใส ในกระบวนการจัดหาระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดิน และระบบแอพพลิเคชั่นภูมิสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA” และมีการตั้งคำถามถึง “ความไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ในวงเงิน 7,800 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรศุลกากร) ระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปี (ปีงบประมาณ 2560-2564) ที่มอบให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน): สทอภ. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ”
โดยเป็นข้อสังเกตที่ว่า การใช้งบประมาณในโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินจากภาษีประชาชน 7,800 ล้านบาท ในโครงการนี้จะเป็นการ “ทิ้งทวน” บิ๊กโปรเจคของรัฐบาลประยุทธ์ หรือไม่?