กอ.รมน.รับ เอกสารแฉไอโอทหารของจริง แจง ปฏิบัติการข่าวสารของเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com แค่ต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ชี้ เอกสารที่ส.ส.นำมาแจงในสภา ทำขึ้น เมื่อปี 60-62 เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณางบปี 63
ก่อนหน้านี้ในการมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ส.ส.จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ได้นำเอกสารที่อ้างว่าเป็นของ กอ.รมน. ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สภาผู้แทนราษฎร มาประกอบการอภิปราย และระบุว่า กอ.รมน. ได้จัดทำเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com เพื่อโจมตีบุคคลต่างๆ
ล่าสุดวันนี้ (27 ก.พ.) ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในรายอาณาจักร (กอ.รมน.) พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง ได้ออกมาเปิดเผยว่า เอกสารที่นำมากล่าวอ้างนั้น เป็นเอกสารราชการของจริงที่คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2563 สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ กอ.รมน. จัดทำรายงานการปฏิบัติ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2562 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบ การพิจารณางบประมาณปี 2563 กิจกรรมการส่งเสริมและเผยแพร่ ความจริงที่ถูกต้อง เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ดังนั้น กอ.รมน. จึงได้จัดทำเพิ่มเติม ตามคำแนะนำดังกล่าว เพื่อให้คณะอนุกรรมาธิการฯ พิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณ และได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ตามขั้นตอนของรัฐสภาแล้ว
พล.ต.ธนาธิป กล่าวตามรายงานของมติชนว่า สำหรับรายละเอียดของกิจกรรม เป็นการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในรูปแบบการจัดรายการวิทยุ ของสถานีวิทยุทักษิณสัมพันธ์ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารที่ถูกต้อง ให้ประชาชนเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ มุ่งเน้นการอำนวยความยุติธรรม และงานด้าน สิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปสู่สันติสุขในอนาคต ไม่ได้มีความมุ่งหมายตามที่มีการนำมาอภิปราย แต่อย่างใด
โฆษกกอ.รมน. กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทุกรัฐบาล ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหามากว่า 15 ปี และในปัจจุบันได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยลดการก่อเหตุความรุนแรงลง อย่างไรก็ตามได้มีการใช้สื่อโซเชียลมากขึ้น เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อเท็จจริง และเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อทำลายภาพลักษณ์สร้างความหวาดระแวง และความเกลียดชังผ่านว็บไซต์ เว็บเพจ และเฟสบุ๊ค ในลักษณะปิดลับอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน