ในภูมิภาคอุษาคเนย์ทุกวันนี้ นอกจากประเทศไทย , กัมพูชา , มาเลเซีย และบรูไนจะยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่แล้ว แต่ในประเทศที่เป็นสาธารณรัฐอย่างประเทศอินโดนีเซียนั้น ก็ยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ด้วยเช่นกันคือ “ราชวงศ์สุลต่านแห่งยอกยาการ์ตา” (Yogyakarta Sultanate) แห่งเกาะชวา
ซึ่งเหตุที่ราชวงศ์สุลต่านแห่งยอกยาการ์ตายังคงได้รับเกียรติจากรัฐบาลอินโดนีเซีย ให้คงสถานะแห่งพระราชวงศ์สืบต่อมานั้น เพราะว่าสุลต่านแห่งยอกยาการ์ตานได้ให้การสนับสนุนต่อขบวนการประกาศเอกราชอินโดนีเซียในการปลดแอกจากดัตซ์หรือเนเธอร์แลนด์ที่เป็นเจ้าอาณานิคมมาก่อน จึงทำให้เมื่อมีการตั้งประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐบาลกลางแห่งอินโดนีเซียจึงได้ถวายเกียรติให้ราชวงศ์สุลต่านแห่งยอกยาการ์ตายังคงมีอำนาจในฐานะเจ้าผู้ครองนครหรือผู้ว่าการเขตการปกครองพิเศษสืบมาจนทุกวันนี้นั่นเอง
ดังนั้น เพราะด้วยการดำรงอยู่ของราชวงศ์สุลต่านแห่งยอกยาการ์ตานี้เอง จึงทำให้ราชสำนักแห่งยอกยาการ์ตายังคงรักษาธรรมเนียมและจารีตประเพณีแห่งนักรบชวาสืบต่อมาได้ โดยจารีตประเพณีที่ว่านั้นก็คือกองทหารราชองครักษ์หรือกองทหารล้อมวังที่เรียกว่า “ราชองครักษ์แห่งกราตอน” (Yogyakarta Kraton Guards) โดยความเป็นมาของกองทหารองครักษ์เหล่านี้ได้ถูกสถาปนาขึ้นโดย “ศรีสุลต่าน ฮาเมงกูบูโวโน่ที่ 1” (Hamengkubuwono I) ปฐมกษัตริย์แห่งยอกยาการ์ตา โดยพระองค์ได้ทรงทำการปฏิรูปกองทหารชนเผ่าให้กลายเป็นกองทหารแบบตะวันตก ด้วยการฝึกของนายทหารดัตซ์จากบริษัท VOC จนทำให้กองทหารแห่งยอกยาการ์ตากลายเป็นหนึ่งในกองกำลังที่ทันสมัยที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดในช่วงยุคศตวรรษที่ 17 ของภูมิภาคอุษาคเนย์เลยทีเดียว หรืออาจจะกล่าวได้ว่ากององครักษ์แห่งองค์สุลต่านยอกยาการ์ตานี้ก็คือ “กรมทหารเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง” ของพวกชวาก็ว่าได้ครับ
สำหรับเอกลักษณ์ของทหารกองนี้ก็คือ นอกพวกเขาจะได้รับการฝึกแบบกองทหารยุโรปแล้ว แต่พวกเขายังได้แต่งตัวแบบทหารยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 17 – 19 อีกด้วย โดยแต่เดิมนั้นกองกำลังเหล่านี้จะมีการแบ่งออกถึง 13 ซึ่งแต่ละกรมจะมีทั้งกองทหารม้าและกองทหารราบ โดยในกองทหารราบนั้นก็ยังมีกองทหารหอกยาว (Pike) , กองธนู , และสุดท้ายคือกองปืนไฟโดยเบ็ดเสร็จ แต่เมื่อครั้นกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ารุกรานประเทศอินโดนีเซียนั้นก็ได้มีคำสั่งให้ยุบกองกำลังเหล่านี้ลงทั้งหมดไปชั่วระยะหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อประเทศอินโดนีเซียได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์แล้ว “สุลต่านฮาเมงกูบูโวโน่ที่ 9” (Hamengkubuwono IX) จึงได้ประกาศสถาปนากองกำลังองครักษ์กลับมาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1970 แต่กลับให้คงเหลืออยู่เพียง 10 กอง โดยแต่ละกองนั้นแต่แต่งตัวไม่ซ้ำแบบกัน และบางกองยังมีอาวุธเฉพาะตนอีกด้วย
เรื่องโดย..ภาสพันธ์ ปานสีดา แห่งเพจประวัติศาสตร์ฮาเฮ https://www.facebook.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%AE%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AE-1686097691645589/