กรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์ธุรกิจที่น่าจับตามองไตรมาสแรกปี 2567 อี-คอมเมิร์ซโตต่อเนื่องชนิดแรงไม่หยุด-ฉุดไม่อยู่ ..ปี 2566 มูลค่าตลาดธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทย อยู่ที่ 6.34 แสนล้านบาท คาดปี 2567 มูลค่าตลาดจะแตะ 7 แสนล้านบาท แรงหนุนมาจากคนไทยแห่ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ กว่า 67% สอดคล้องตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันธุรกิจอี-คอมเมิร์ซดำเนินกิจการจำนวนทั้งสิ้น 7,393 ราย แต่หากเทียบกับผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซทั้งตลาด ยังถือว่ามีจำนวนที่น้อยมาก โดยคาดว่าผู้ประกอบการทั้งตลาดจะมีมากกว่า 1 แสนราย จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล นอกจากจะได้รับความน่าเชื่อเพิ่มขึ้นแล้ว ยังสามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อขยายกิจการได้อีกด้วย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยข้อมูลวิเคราะห์ธุรกิจที่น่าจับตามองไตรมาส 1/2567 ว่า ‘อี-คอมเมิร์ซ’ เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ชนิด ‘แรงไม่หยุด-ฉุดไม่อยู่’ ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมากที่สุด คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้ง การเปิดใจรับเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันทั้งการดำรงชีวิตและเป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้คนเปลี่ยนมุมมอง ‘นึกถึงสุขภาพร่างกายที่ดี ที่เป็นความมั่นคงที่แท้จริง พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต’ ส่งผลให้คนไทยมีจำนวนการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลจาก www.datareporter.com (Digital 2024 : Thailand) พบว่า ปัจจุบันคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ต 63.21 ล้านคน (88%) ใช้งานเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 58 นาทีต่อวัน โดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้งานมากที่สุด คือ Facebook, LINE และ TikTok ตามลำดับ เพื่อติดต่อครอบครัวและเพื่อน ติดตามข่าวสาร และซื้อสินค้าออนไลน์ โดยคนไทยใช้แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซซื้อสินค้าและบริการสูงถึง 66.90%
ความนิยมที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่เติบโตตลอด 6 ปีที่ผ่านมาทั้งจำนวนการจัดตั้งและมูลค่าทุนจดทะเบียน โดย ปี 2561 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 310 ราย ทุนจดทะเบียน 545.00 ล้านบาท ปี 2562 จัดตั้ง 576 ราย (เพิ่มขึ้น 266 ราย หรือ 85.81%) ทุน 772.05 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 227.05 ล้านบาท หรือ 41.66%) ปี 2563 จัดตั้ง 798 ราย (เพิ่มขึ้น 222 ราย หรือ 38.55%) ทุน 1,177.25 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 405.20 ล้านบาท หรือ 52.49%) ปี 2564 จัดตั้ง 1,404 ราย (เพิ่มขึ้น 606 ราย หรือ 75.94%) ทุน 1,800.41 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 623.16 ล้านบาท หรือ 52.94%) ปี 2565 จัดตั้ง 1,459 ราย (เพิ่มขึ้น 55 ราย หรือ 3.92%) ทุน 1,922.56 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 122.15 ล้านบาท หรือ 6.79%) ปี 2566 จัดตั้ง 1,713 ราย (เพิ่มขึ้น 254 ราย หรือ 17.41%) ทุน 2,270.84 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 348.28 ล้านบาท หรือ 18.12%)
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 7,393 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 43,704.22 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 2,626 ราย (35.52%) นนทบุรี 534 ราย (7.22%) สมุทรปราการ 386 ราย (5.22%) ปทุมธานี 386 ราย (5.22%) และ เชียงใหม่ 319 ราย (4.31 %) โดยเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) 7,279 ราย (98.46%) ทุน 13,497.14 ล้านบาท (30.88%) ขนาดกลาง (M) 86 ราย (1.16%) ทุน 1,875.05 ล้านบาท (4.29%) และ ขนาดใหญ่ (L) 28 ราย (0.38%) ทุน 28,332.03 ล้านบาท (64.83%)
ผลประกอบการกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ปี 2563 จำนวน 22,835.80 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 29,247.12 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6,411.32 ล้านบาท หรือ 28.08%) ปี 2565 จำนวน 23,422.21 ล้านบาท (ลดลง 5,824.91 ล้านบาท หรือ 19.92%) ผลประกอบการกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ปี 2563 จำนวน 94,492.48 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 113,880.44 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 19,387.96 ล้านบาท หรือ 20.52%) ปี 2565 จำนวน 152,432.90 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 38,552.46 ล้านบาท หรือ 33.86%)
และจากการที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซได้รับความนิยมและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์และมีอัตราการเติบโตตาม ได้แก่ 1) ธุรกิจขนส่ง (Logistics) เป็นธุรกิจที่เป็นหัวใจสำคัญของการค้าปลีกออนไลน์ โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งขั้นสุดท้าย หรือ Last-Mile Delivery จากการขยายตัวของฐานผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยในปี 2565 – 2566 มีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ เติบโตเฉลี่ย 4.50% และคาดว่าจะเติบโตตามธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ 2) ธุรกิจคลังสินค้า (Warehouse) ธุรกิจคลังสินค้าสมัยใหม่ที่มีรูปแบบการให้บริการที่ครบวงจร (Fulfillment Center) มีศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงห้องเก็บความเย็น ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจการค้าปลีกออนไลน์ 3) ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Package) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ขยายตัวควบคู่กับการเติบโตของค้าปลีกออนไลน์ เน้นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือพลาสติกรีไซเคิล โดยปี 2563 – 2566 มีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ เติบโตเฉลี่ย 9.51% และ 4) ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ (Digital Ads) การโฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์มเติบโตควบคู่ไปกับการขายปลีกออนไลน์ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ลักษณะและพฤติกรรมของผู้บริโภคผ่านการซื้อสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์ม และเป็นช่องทางชี้ชวนขั้นสุดท้ายก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปี 2566 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าตลาด 6.34 แสนล้านบาท และคาดว่า ปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 6.94 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 6% และ ปี 2568 จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 7.50 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบจำนวนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลที่มีจำนวนทั้งสิ้น 7,393 ราย กับผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซทั้งตลาดยังถือว่ามีจำนวนที่น้อยมาก โดยคาดว่าผู้ประกอบการทั้งตลาดจะมีมากกว่า 1 แสนราย โดยการดำเนินธุรกิจระยะแรกผู้ประกอบการอาจประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนพาณิชย์ แต่เมื่อมีศักยภาพมากขึ้นก็สามารถเปลี่ยนเป็นการประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล โดยสามารถจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลผ่านระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยสามารถดำเนินการได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ซึ่งการจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลจะช่วยยกระดับความน่าเชื่อของธุรกิจ สามารถยืนยันความมีตัวตนของธุรกิจ ได้รับโอกาสในการส่งเสริมธุรกิจผ่านโครงการต่างๆ ของภาครัฐ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อขยายกิจการส่งผลให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง มีระบบการบริหารจัดการด้านภาษีที่ได้เปรียบมากกว่ารูปแบบอื่น เป็นการสร้าง/เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันของธุรกิจให้มีมากยิ่งขึ้น” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย