เมื่อฝรั่งเศสได้ดินแดนอินโดจีน อันประกอบด้วย เวียดนาม กัมพูชา และลาว เป็นอาณานิคม ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากเดินทางเข้ามาในดินแดนนี้ และได้พบเห็นเรื่องราวแปลกๆ รวมทั้งเรื่องของวัวป่าลึกลับที่มีเขาแตกเป็นพู่ เมื่อแรก ผู้ที่ได้ยินเรื่องนี้จากชาวพื้นเมือง ก็มิได้สนใจนัก นักสัตววิทยาในยุคนั้นคิดว่า สัตว์ดังกล่าวคงเป็นลูกผสมระหว่างกระทิงกับวัวแดง หรือมิฉะนั้นก็อาจเป็นวัวแดงกับควายป่า ต่อมาได้มีผู้ที่สนใจและศึกษาเรื่องสัตว์ดังกล่าว และพบว่า สัตว์นี้มิใช่ลูกผสมของวัวป่าที่รู้จักกัน หากแต่เป็นสัตว์ที่มีสายพันธุ์เฉพาะของมันเอง และเป็นวัวป่าดึกดำบรรพ์เก่าแก่ สัตว์ดังกล่าวนั้น ชาวพื้นเมืองเรียกมันว่า โคไพร หรือ กูปรี (KOUPREY)
“กูปรี” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า BOS SAUVELI เป็นวัวป่าสายพันธุ์เก่าแก่ มีขนาดไล่เลี่ยกับวัวแดง โดยสูงที่ไหล่ประมาณ 1.7 เมตร น้ำหนัก 600 – 700 กิโลกรัม แรกเกิดมีสีน้ำตาลแดง เช่นเดียวกับลูกวัวแดงและกระทิง เมื่อโตขึ้นทั้งตัวผู้และตัวเมีย สีขนจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมน้ำตาล สำหรับตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีสีดำปลอด ในขณะที่ตัวเมียเป็นสีเทาอมน้ำตาล ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีสีขาวบริเวณปลายขาท่อนล่าง เช่นเดียวกับวัวแดง แต่ไม่มีวงสีขาวที่ก้นเหมือนวัวแดง
กูปรีชอบอาศัยอยู่บริเวณเนินเขาที่ไม่ลาดชันนัก ส่วนมากจะเป็นเขตป่าโปร่ง และที่ราบที่เป็นทุ่งหญ้าสูงๆ สลับกับพุ่มไม้เตี้ยๆ ชอบพื้นที่ที่เป็นดินปนทราย และมีโป่งดินอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ดีบางครั้งกูปรีอาจเข้าไปหากินในป่าทึบ เพื่อหลบนักล่าสัตว์ มักอยู่รวมเป็นฝูงประมาณ 20 ตัว โดยมีตัวผู้ที่โตเต็มที่เพียงตัวเดียวเป็นจ่าฝูง นอกนั้นเป็นตัวเมียและลูกที่ยังโตไม่เต็มที่ ส่วนตัวผู้ที่ไม่มีฝูง อาจรวมกลุ่มเฉพาะตัวผู้ หรืออยู่ตามลำพังแบบวัวโทน
กูปรีเป็นสัตว์รักสงบไม่ตื่นตกใจง่าย ฤดูผสมพันธุ์จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม ตัวเมียตกลูกในช่วงเดือนธันวาคม และมกราคม ตัวเมียจะพาลูกแยกออกจากฝูงประมาณ 1 เดือน ก่อนจะพาเข้ารวมฝูง ผิดกับกระทิง และวัวแดง ที่จะรวมอยู่ในฝูงตลอดเวลา
กูปรีถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1937 โดยพบในเขตป่าของกัมพูชา ในปีเดียวกันนั้นเอง มีการจับลูกกูปรีเพศผู้ได้หนึ่งตัว และถูกส่งไปเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์แวงแซน ( VINCENNES ) ชานกรุงปารีส ทำให้นักสัตววิทยาได้โอกาสศึกษามันอย่างใกล้ชิด ทว่าสามปีต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น กองทัพเยอรมันบุกเข้าปารีส สวนสัตว์ถูกละทิ้ง และท้ายสุด กูปรีตัวนี้ก็ตายลงเพราะขาดอาหาร หลังสงครามสงบได้มีการสำรวจหากูปรีกันอีกครั้ง
ในปี ค.ศ. 1948 ได้มีการบันทึกภาพยนตร์กูปรีได้ในป่า บริเวณเทือกเขาพนมดงรักชายแดนไทยกัมพูชา มีการประมาณกันว่า ในขณะนั้นกูปรีหลงเหลืออยู่ในโลกประมาณ 2,000 กว่าตัว โดยกระจัดกระจายอยู่ในเขตป่าของไทยด้านตะวันออก ลาว กัมพูชา และด้านตะวันตกของเวียดนาม โดยมากกว่า 800 ตัว อยู่ในกัมพูชา นอกจากกูปรีที่ถูกจับไปยังฝรั่งเศสแล้ว ในตอนนั้นวังของกษัตริย์กัมพูชาที่พนมเปญ ก็เคยมีกูปรีเลี้ยงไว้เช่นกัน
ในปี ค.ศ. 1964 นักสำรวจผิวขาวชื่อ “ชาร์ล วาร์ตัน” (CHARLES WHARTON) ได้มาอินโดจีน และสามารถจับกูปรีได้ถึง 5 ตัว แต่น่าเสียดายที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น กูปรีสองตัวตาย และอีกสามตัวหลุดหนีไป จากนั้นก็ไม่เคยมีใครจับกูปรีได้อีกเลย
อย่างไรก็ตาม มีความพยายามในการค้นหากูปรี โดยเฉพาะในกัมพูชาต่อไป ทว่าเมื่อสงครามเวียดนามเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1969 และลุกลามทั่วภูมิภาคจนอินโดจีนกลายเป็นแดนมิคสัญญี การสำรวจจึงต้องยุติไป หลังทหารอเมริกันถอนทัพจากเวียดนาม ก็เกิดสงครามกลางเมืองในกัมพูชา การรบพุ่งทำลายล้างชีวิตสัตว์ป่าเป็นจำนวนมากไม่เฉพาะแต่กูปรีเท่านั้น
ในช่วงนั้น มีรายงานการพบเห็นฝูงกูปรี ที่หนีข้ามมาอยู่ในเขตแดนไทยหลายครั้ง การล่าเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหารและขายเขาเป็นสินค้า รวมทั้งกับระเบิดได้สังหารกูปรีลงเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี ค.ศ. 1988 มีการเริ่มโครงการอนุรักษ์กูปรีขึ้นในเวียดนาม แต่การสำรวจในครั้งนี้ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากปัญหากับระเบิดที่ฝังอยู่ในเขตป่าที่อยู่ของกูปรี ต่อมาเมื่อปี 1991 กรมป่าไม้ของไทยได้สำรวจกูปรีในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณป่าชายแดนไทยกัมพูชาแต่ไม่พบกูปรี พบเพียงร่องรอยที่ยืนยันว่ามีกูปรีเข้ามาในแถบนั้น จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1998 มีการสำรวจและรวบรวมข้อมูลจากชาวบ้านและพรานป่าในกัมพูชา พบว่ากูปรีเกือบจะสูญพันธุ์แล้ว คงมีเพียงการพบเห็นในเขตจังหวัดเสียมเรียบ และพบฝูงกูปรีราว 10 ตัว ใกล้กับชายแดนเวียดนามเท่านั้น
ในปี ค.ศ.2006 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย นอร์ธเวสเทิร์น ชิคาโก สหรัฐอเมริกาได้เสนอทฤษฎี ว่าแท้จริง กูปรีอาจมิใช่สัตว์ป่าดั้งเดิม แต่เป็นลูกผสมที่เกิดจากวัวแดงกับวัวบ้านพันธุ์เซบูโดยมีที่มาจากการพบยีนส์ที่คล้ายกับวัวแดงเป็นจำนวนมากในตัวอย่างเขากูปรีที่นำมาจากพิพิธภัณฑ์ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ให้ความเห็นว่า ในอดีต อาจมีวัวบ้านที่หนีเข้าป่าได้ผสมพันธุ์กับวัวแดง ซึ่งกรณีเหล่านี้ อาจมีบ่อยจนมีลูกผสมเกิดขึ้นจำนวนมาก และลูกผสมเหล่านี้ก็กลายเป็นบรรพบุรุษของกูปรี ซึ่งหากทฤษฎีนี้เป็นจริง กูปรีก็จะเป็นแค่สัตว์พันธุ์ผสม ไม่ใช่ชนิดพันธุ์บริสุทธิ์และจะไม่ได้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤตอีกต่อไป
ทว่าไม่นาน ทฤษฎีนี้ก็ถูกล้มล้าง หลังมีการขุดพบชิ้นส่วนเขาและกะโหลกของกูปรี อายุอยู่ในช่วงปลายยุคพลีสโตซีนหรือราว 13,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งการศึกษาหน่วยพันธุกรรมเพิ่มเติมยังสนับสนุนว่า กูปรีเป็นวัวป่าชนิดพันธุ์โบราณจริงๆ ด้วย
ส่วนเหตุผลที่มีการพบยีนส์คล้ายวัวแดงในตัวอย่างเขากูปรีจำนวนมากที่มาจากกัมพูชา ก็อาจเพราะวัวแดงกับกูปรีในกัมพูชาจะหากินในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งบันทึกเก่าๆ หลายฉบับก็ระบุว่า ในป่ากัมพูชา มักพบวัวป่าสองชนิดหากินปะปนกันเสมอ จึงมีโอกาสสูงที่วัวแดงกับกูปรีจะผสมข้ามพันธุ์กันจนมีการถ่ายทอดยีนส์ลงในลูกหลาน
ปัจจุบันไม่มีรายงานการพบเห็นกูปรี มาร่วมสิบปีแล้ว ทว่านักอนุรักษ์ก็ยังมีความหวังอันน้อยนิดว่า อาจยังมีกูปรีเป็นจำนวนหลักสิบ หลงเหลืออยู่ในป่าของกัมพูชา ซึ่งทางรัฐบาลกัมพูชาเองก็ได้ประกาศให้เขตพื้นที่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของกูปรีเป็นเขตสงวน ทำให้อย่างน้อย หากยังมีกูปรีเหลือรอดอยู่จริง พวกมันก็จะมีผืนป่าที่ปลอดภัยสำหรับเป็นที่ซ่อนตัวเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไป
ที่มา: Komkid.com