นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่าการมาร่วมกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ในโครงการฝึกอบรมการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในการบริหารจัดการน้ำ และพื้นที่ทำการเกษตรในวันนี้ เป็นการน้อมนำในแนวทางตามหลักทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงพระราชทานเพื่อคนไทยและความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็น การน้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของกรมการพัฒนาชุมชน
“โคก หนอง นา โมเดล” คือ 1 ในโครงการของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงตาม “ศาสตร์พระราชา” มาประยุกต์สู่ “การทำเกษตรทฤษฎีใหม่” โดยแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 โดย 30% สำหรับแหล่งน้ำ ขุดบ่อทำหนอง ขุดคลองไส้ไก่ 30% ปลูกข้าว 30% ทำโคกหรือป่า 10% สำหรับที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ซึ่งวันนี้ผมได้นำทุเรียน มะม่วงเบา ไผ่ราชินี เมล็ดข้าวโพด มาร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตามแนวทาง ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกพืชอาหาร แหล่งน้ำ และที่อยู่อาศัย อย่างสมดุลให้เกิดความยั่งยืน
“ผมขอขอบคุณท่านธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และทุกท่านที่เข้าร่วมด้วยความสมัครสมานสามัคคีของชุมชน ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้แข็งแกร่ง มุ่งหวังให้เกิดการแก้ปัญหาประเทศและปัญหาวิกฤตโลก ใน 3 ประเด็นที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ ด้านน้ำ ด้านอาหาร และด้านพลังงาน สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนในประเทศได้ ป้องกันปัญหาและลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสียได้ ซึ่งกำหนดให้มีการเตรียมความพร้อมใน 4 มิติ คือ คน ความรู้ เครือข่าย และการขยายผลสู่ความยั่งยืน” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวย้ำ
ด้านนายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการฝึกอบรมการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ว่า เป็นกิจกรรมต้นแบบตามหลักทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดย “ศูนย์สวนดินเลี้ยงน้ำ” แห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่สนใจจะน้อมนำเอาทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองต่อไป
กิจกรรมในครั้งนี้ทุกคนร่วมกันปลูกป่า 5 ระดับ ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พร้อมห่มดินด้วยฟาง, แห้งชามด้วยปุ๋ยคอก, น้ำชามด้วยน้ำหมักชีวภาพ ปลูกไปกว่า 400 ต้น โดยการออกแบบใช้องค์ความรู้ภูมิสังคม ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ทางทิศเหนือเป็นที่สูงเหมือนประเทศไทยมีสวนป่า มีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่าตรงกลาง ทิศตะวันตกจะเป็นสวนป่า พื้นที่ตรงกลางฝั่งตะวันตกเป็นสวนไม้ผล เช่น ส้มโอขาว แตงกวา และอื่นๆ พร้อมแปลงผักสวนครัว ขณะพื้นที่ตรงกลางฝั่งตะวันออกเป็นนาเกษตรอินทรีย์ไว้รับประทาน หัวคันนาทองคำโดยรอบตั้งแต่หลังโคกทิศเหนือ ตะวันตก และใต้จะเป็นสวนป่า และมีไผ่อยู่รอบนอกเสมือนรั้ว ส่วนทิศตะวันออกเฉียงเหนือปลูกต้นตาลตามแนวต้นตาลเดิมของพื้นที่ข้างเคียง โดยจะปลูกพืชสวนครัวรั้วกินได้ประเภทชะอมเป็นแนวรั้ว
นอกจากนี้ยังมีหนองขนาดใหญ่ทิศเหนือ และทิศใต้มีคลองไส้ไก่โดยรอบ ขณะที่ตรงกลางที่เชื่อมถึงกัน ใช้เลี้ยงปลาและสัตว์น้ำ โดยมีฝายกั้นเป็นระยะๆ เพื่อให้น้ำใต้ดินซึมถึงกันทั่วทั้งแปลง เพื่อให้ต้นไม้หลังปีที่สองจะเลี้ยงตนเองได้ ส่วนพื้นที่ตรงกลางมีโคกทรงกลม มีคลองไส้ไก่ล้อมรอบเสมือนศูนย์กลางจักรวาล อนาคตจะมีอาคารเล็กๆ ตั้งอยู่ และจะเป็นพื้นที่ “โคก หนอง นา” ฉบับย่อ
อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่าในพื้นที่ศูนย์แห่งนี้นั้นได้มีการบังคับทางเข้าทางเดียวทางทิศใต้ มีสะเดาใหญ่ตั้งอยู่ 2 ต้น ใช้แทนเสาเป็นระเบียงต้นไม้ เพื่อให้ขึ้นไปถ่ายภาพชมมุมสูงเป็นจุด Check in พื้นที่ โดยในพื้นที่ทั้งหมดจะมีจุดแสดงความผูกพันกับชุมชน และประวัติศาสตร์ เรื่องราว เรื่องเล่า เพื่อการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของชุมชน เช่น หนองบัว หนองบอน หนองไม้รวก บางกระบวย ท่ามะฝ่อ ท่าควายใหญ่ และอื่นๆ
“เป้าหมายของ “ศูนย์สวนดินเลี้ยงน้ำ” คือ ประชาชนในพื้นที่ต้องได้ประโยชน์จากศูนย์นี้ มีการต่อยอดด้านการท่องเที่ยว โฮมสเตย์ อาชีพ และวิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับเพิ่มรายได้ และเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ ให้แก่เด็กและเยาวชน ประชาชนในพื้นที่ และบุคคลทั่วไปที่สนใจอยากจะเรียนรู้ เพิ่มทักษะ ประสบการณ์ กิจกรรมยังมีต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ชุมชน ผู้สนใจอยากเรียนรู้ฯ เชิญได้ที่ศูนย์สวนดินเลี้ยงน้ำ” อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวย้ำ