ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังโควิด 5 โครงการเป็นเงิน 4แสนล้านบาท โดยจะเน้นไปที่การสร้างงานกระจายรายได้ท้องถิ่น รองรับแรงงานอพยพกลับถิ่นฐาน
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ก.ค.2563 เห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งได้กลั่นกรองการใช้เงินกู้ภายใต้วัตถุประสงค์ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19 (วงเงิน 4 แสนล้านบาท) ซึ่งการอนุมัติครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 ภายใต้กรอบแนวคิดการกระจายรายได้ไปสู่พื้นที่ เน้นการฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ เน้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพและสามารถรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพไปสู่ท้องถิ่นได้ รวมถึงมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งด้านกำลังคนและแผนงานในด้านการลงทุน
โดยเบื้องต้นคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ได้พิจารณาการใช้เงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รอบที่ 1 ไปแล้วทั้งสิ้น 186 โครงการ กรอบวงเงิน 92,400 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก, แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และแผนงานกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ (ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติโครงการเราเที่ยวด้วยกันและกำลังใจวงเงิน 22,400 ล้านบาทไปแล้วเมื่อการประชุมวันที่ 30 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา)
ส่วนวันนี้ (8 ก.ค.) ครม.ได้อนุมัติ 5 โครงการ ได้แก่
1) โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่ม เกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 9,805 ล้านบาท เพื่อฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตร
2) โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ โดยกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 4,787 ล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน บัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มแรงงานอพยพกลับท้องถิ่น
3) โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 169 ล้านบาท เพื่อฝึกอบรมสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนให้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการตรวจวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ย รวมทั้งขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่
4) โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วงเงิน 15 ล้านบาท โดยการสร้างต้นแบบย่านท่องเที่ยวปลอดภัย 5 แห่ง ได้แก่ ย่านเมืองเก่าน่าน, หาดบางแสน จ.ชลบุรี, เอเชียทีค, ชุมชนบ้านไร่ กองขิง จ.เชียงใหม่ และเยาวราช รวมถึงการฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยให้ผู้ประกอบการและร้านค้าต่างๆ
5) โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 741 ล้านบาท ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มาตรฐาน รวมถึงจ้างงานให้ชุมชนท้องถิ่นรอบพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า 1,250 คน เพื่อให้ความรู้แหล่งท่องเที่ยวพัฒนามาตรฐานกิจกรรมดูนกและเดินป่าในพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณใน 5 โครงการดังกล่าว จำนวน 15,520 ล้านบาท
“สำหรับโครงการที่เหลือ (181 โครงการ) ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้นั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในสัปดาห์หน้า” น.ส.ไตรศุลี กล่าว