“แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคที่อยู่อาศัย”..

การเคหะแห่งชาติ จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคที่อยู่อาศัย” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญบรรยายให้ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่ออาคารที่อยู่อาศัย แนวทางการปรับตัวด้านเมืองกับภาคที่อยู่อาศัย และ Sustainable Building ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาครัฐและเอกชน

นายนพดล ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง จึงให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคที่อยู่อาศัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้ดำเนินงานสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเพิ่มศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับทุกภาคส่วน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้พัฒนาการออกแบบที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ชุมชนเข้มแข็ง และยกระดับชุมชนให้ได้มาตรฐาน โดยนำแนวคิดเรื่องชุมชนน่าอยู่น่าสบายอย่างยั่งยืนมาใช้ตลอดจนขยายเครือข่ายความร่วมมือไปสู่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง

การจัดสัมมนาดังกล่าว การเคหะแห่งชาติได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคที่อยู่อาศัย ได้แก่ ดร.กิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรการและกลไก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม บรรยายเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่ออาคารที่อยู่อาศัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายเรื่อง แนวทางการปรับตัวด้านเมืองกับภาคที่อยู่อาศัย และนายวิชัย รายรัตน์ ผู้อำนวยการการพัฒนาอย่างยั่งยืน ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บรรยายเรื่อง Sustainable Building

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งถือเป็นเรื่อง สำคัญ และจากปัญหาของการใช้พลังงานฟอสซิลผสมกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคของการพัฒนาที่อยู่อาศัย จากวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างที่มีหลากหลายชนิด ซึ่งกระบวนการผลิตของวัสดุตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจะมีกระบวนการปล่อยความร้อนและฝุ่นละอองก๊าซเรือนกระจก การเคหะแห่งชาติจึงร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทำโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย หรือโครงการบ้านเบอร์ 5 ตั้งแต่ปี 2560 โดยได้ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงการออกแบบ รวมถึงเลือกใช้วัสดุการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพสูง และอุปกรณ์เบอร์ 5 ในโครงการบ้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งในปี 2561 การเคหะแห่งชาติได้จัดทำโครงนำร่องบ้านประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวน 8 โครงการ และปี 2562 จำนวน 6 โครงการ นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติ ยังร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดำเนินโครงการส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) ครั้งที่ 7 โดยมีโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) เป็นหน่วยงานบริหารโครงการ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศไทย