สภาพัฒน์หวั่นใจปัญหาภัยแล้ง สงครามการค้า ไวรัสโควิด-19 รวมถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจประเทศไทยลงต่ำถึงขีดสุด
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2563 ขยายตัวติดลบ 12.2% จากไตรมาส 1 ที่ขยายตัวติดลบ 2.2% และคาดว่าทั้งปีจะขยายติดลบอยู่ที่ 7.8-7.3% มีค่ากลางอยู่ที่ 7.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายติดลบ 6-5% เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 หยุดทั้งหมด ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวต่ำที่สุดของปี
“การลงทุนการบริโภคทั้งของภาคเอกชน ขยายตัวติดลบหมด จากโควิด-19 สงครามการค้า และปัญหาภัยแล้ง มีตัวช่วยเศรษฐกิจเพียงตัวเดียวที่ช่วยเศรษฐกิจ คือ การบริโภคและการลงทุนของภาครัฐเท่านั้น โดยการขยายตัวติดลบทั้งปีที่ 7.5% อยู่ภายใต้สมมุติฐานไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสอง” นายทศพร กล่าว
นายทศพร กล่าวว่า ด้านการผลิตทุกภาคอุตสาหกรรม ภาคท่องเที่ยว โรงแรม และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อาหาร รวมถึงภาคการเกษตร ที่ขยายตัวติดลบหมด
สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ต้องเร่งรัดมาตรการที่ออกไปแล้วที่ใช้เงินกู้จาก 1 ล้านล้านบาท ให้ไม่ล่าช้า ต้องดูแลบางภาคอุตสาหกรรมไม่มีปัญหาหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล ลุกลามไปกระทบสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ต้องดูแลสาขาเศรษฐกิจที่มีปัญหาการฟื้นตัว คือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องมีการดูแลพิเศษ ซึ่ง สศช. จะมีการหารือกับกระทรวงการคลัง และรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงการคลัง เพื่อสรุปมาตรการเสนอให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 (ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมนัดแรกในวันที่ 19 ส.ค. นี้
นายทศพร กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจที่เลี่ยงพูดไม่ได้ คือ ต้องดูแลรักษาบรรยากาศทางการเมือง เพราะถ้ามีปัจจัยทางการเมืองเกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีก จะทำให้เกิดปัญหาซ้ำเติมเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาอีก