สสว. – สถาบันอาหาร เร่งอัดฉีด SMEs จาก 2 โครงการใหญ่ หนุนกิจกรรมทดสอบตลาด-จับคู่ธุรกิจ ในงาน ท่องกินอาหารท้องถิ่น…สุดฟินกับอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่ไอคอนสยาม 28 – 30 ส.ค. นี้
สสว. จับมือสถาบันอาหาร จัดกิจกรรมทดสอบตลาดและเจรจาจับคู่ธุรกิจ ท่องกินอาหารท้องถิ่น…สุดฟินกับอาหารแห่งอนาคต(Future Food) ผนึก 2 โครงการใหญ่ไว้ในงานเดียวนำทัพผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอนาคต 23 กิจการ จาก 8 จังหวัดภาคอีสาน ภายใต้โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ และกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงอาหารอีก 31 กิจการ ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล ตั้งเป้าจับคู่ธุรกิจได้ไม่ต่ำกว่า 20 คู่ สร้างมูลค่าการซื้อขายได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ในงานจำหน่ายสินค้าระหว่างวันที่ 28 – 30 ส.ค. 2563 ณ เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เผยว่า สสว.ได้ร่วมกับสถาบันอาหาร ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่(Early Stage) ปี 2563 ในการผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ซึ่ง สสว.ได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความแข็งแรงในการจัดตั้งธุรกิจให้ยั่งยืนได้ในระยะยาว และได้คัดเลือกผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอนาคตหรือ Future Food ได้แก่ อาหารเกษตรอินทรีย์และออร์แกนิค อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหารทางการแพทย์ และอาหารที่ผลิตขึ้นใหม่ทางนวัตกรรม ให้เข้าร่วมจำนวน 600 ราย จากพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ แก่ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด และยโสธร ทั้งนี้ตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาแนวคิดในการสร้างธุรกิจ จำนวน 600 ราย และมีผู้ประกอบการได้รับการปรึกษาแนะนำเชิงลึกสามารถทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือยอดขายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือมีแนวคิดในการทำธุรกิจ รวมจำนวน 220 ราย เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 24 ล้านบาท
“โครงการฯ มุ่งเน้นในการพัฒนาและผลักดันให้ผู้ประกอบการใหม่ค้นหาวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ นำมาแปรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเน้นให้เป็นผลิต ภัณฑ์ในกลุ่มอาหารอนาคต หรือ Future Food ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความปลอดภัย โดยในการจัดงานครั้งนี้ได้คัดเลือกผลิต ภัณฑ์เข้าร่วมงานรวม 23 กิจการ เช่น น้ำมันรำข้าวออแกนิกส์ จากจ.ศรีสะเกษ ชาใบข้าวออร์แกนิก จากจ.ร้อยเอ็ด และข้าวถั่วงา จากจ.ยโสธร เป็นต้น ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์เป็นการพัฒนาตามความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้ จริง ในบางผลิตภัณฑ์จึงยังเป็นการพัฒนาขั้นต้น โดยคำนึงถึงขีดความสามารถผู้ประกอบการแต่ละราย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสทางการตลาด มีความสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์
ของตนให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้น เช่น การใช้น้ำมันรำข้าวออร์แกนิก จากจ.ศรีสะเกษ ที่มีคุณสมบัติช่วยควบคุมไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือด มารวมกับ งาดำออร์แกนิก จากจ.ยโสธร ที่มีสรรพคุณ บรรเทาอาการปวดข้ออักเสบรูมาตอยด์ เพื่อเสริมคุณค่าในการดูแลสุขภาพมากขึ้นในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ หรือ Functional Food ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ได้อีกแนวทางหนึ่งนอกเหนือไปจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic Food) ที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้ว ทางสสว.ก็จะได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการดำเนินโครงการในปีต่อๆไป”
ผอ.สสว. เผยอีกว่า สำหรับโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล(Product Development) ปี 2563 มีแนวคิดในการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจในภาคการผลิตและภาคบริการ ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและวิสาห กิจชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งมีอัตลักษณ์ความโดดเด่นในแต่ละพื้นที่ โดยการพัฒนาธุรกิจในท้องถิ่นชุมชนให้ยังคงมีวัฒนธรรมท้องถิ่น ยกระดับผู้ประกอบการภาคการค้าและภาคบริการให้สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรมตรงตามความต้องการของตลาด ภายใต้แนวคิด “Gastronomy Tourism (การท่องเที่ยวเชิงอาหาร)”
“ในปี 2563สสว.มีเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการSME และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Industry) ได้แก่ กลุ่มอาหารและท่องเที่ยว กลุ่ม Digital Content และกลุ่ม Health care service จำนวน 250 กิจการ ดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี มีจุดเด่นเรื่องสมุนไพร และการท่องเที่ยวเชิงเกษตรจังหวัดพัทลุง มีจุดเด่นเรื่องข้าวสังข์หยด และการท่องเที่ยงเชิงธรรมชาติ และจังหวัดสงขลา อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอกระแสสินธุ์ มีจุดเด่นเรื่องตาลโตนด เป็นต้น ที่มาร่วมออกบูธในครั้งนี้มีจำนวน 31 กิจการ นำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายหลากหลายชนิด เช่น ไข่เค็มสมุนไพรพอกใบเตย โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านหนองไฮ และโคมไฟสานจากสุ่มไก่แม่หมูบิน โดยวิสาหกิจชุมชนสุ่มไก่แม่หมูบิน จาก จ.ปรา จีนบุรี ข้าวกล้องสังข์หยดแห้งชงดื่ม โดยวิสาหกิจชุมชนข้าวซ้อมมือควนปอม และชาดอกกาแฟอาราบิก้าภาคใต้ โดยวิสาหกิจชุมชนไร่กาแฟภูบรรทัด จากจ.พัทลุง นวดแผนไทย/ ยาสมุนไพร/สบู่ลูกโหนด/กระเป๋าสาน โดยวิสาหกิจชุมชนชาสมุนไพร และไข่ครอบแฝดสยาม/กุ้งต้มน้ำผึ้ง/ปลากรอบขมิ้น โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทะเลสาบสงขลาจาก จ.สงขลา เป็นต้น”
นายวีระพงศ์ กล่าวต่อว่า การนำผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบตลาด และเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ภายในงาน ท่องกินอาหารท้องถิ่น…สุดฟินกับอาหารแห่งอนาคต(Future Food) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 30 ส.ค. 2563 ณ เมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม ชั้น G ในครั้งนี้ สสว.คาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจรวมกันไม่น้อยกว่า 20 คู่ และเกิดมูลค่าคำสั่งซื้อรวมกันไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการฯได้คัดเลือกสินค้าที่ผ่านการยกระดับทั้งในด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์มาร่วมออกบูธรวม 54 กิจการ
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหารกล่าวว่า สถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานเป็นที่ปรึกษา 2 โครงการฯ ดังกล่าว โดยจัดหาวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษา สำหรับให้ความรู้และให้คำแนะนำด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ได้รับองค์ความรู้ผ่านการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบการเกษตรได้สูงสุด
“สถาบันอาหารให้ความสำคัญกับการสนับสนุน SME ในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศเพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารถิ่นของตนเองสู่ตลาดสากล โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่ตลาดอาหารอนาคต หรือ Future Food เนื่องจากทุกวันนี้ผู้คนห่วงใยสุขภาพมากขึ้น SME ควรใช้จุดแข็งที่มีความคล่องตัวและปรับเปลี่ยนตัวเองได้เร็วเข้าสู่ตลาดนี้ เช่นอาหารสร้างภูมิต้านทานโรค อาหารเพื่อการชะลอวัยอาหารสำหรับผู้สูงอายุหรือทารกนอกจากนี้ ยังมีอาหารสำหรับคนที่เป็นโรคต่างๆ อย่างโรคที่เกี่ยวข้องกับไต ตับคอเลสเตอรอลสูง ฯลฯ เช่น อาหารแคลอรี่ต่ำ ปราศ จากน้ำตาลเป็นต้น โดยควรคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับทั้งด้านสุขภาพและบริโภคได้โดยสะดวก เป็นสินค้ากลุ่ม Ready to eat,Ready to cook ที่พร้อมรับประทาน พร้อมปรุง ผู้ประกอบการควรลองนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่ ใช้นวัตกรรมเข้าไปช่วยถนอมอาหาร รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ต้องมีความสวยงาม มีข้อมูลโภชนาการครบถ้วน แข็งแรงแน่นหนาพอสมควร เวลาขนส่งไปไหนกล่องต้องไม่บุบ และรักษาสภาพอาหารข้างในไว้ได้ และอาจต้องคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นแพ็กใหญ่เพราะผู้บริโภคคงไม่ได้ออกมานอกบ้านบ่อยๆ เหมือนสมัยก่อน”