กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมนักวิชาการจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างให้ความเห็นบนเวทีเสวนา “เคมี พระเอก หรือ ผู้ร้าย” ชี้ เคมีสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า เผยไม่มีสารเคมีใดไม่เป็นอันตราย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการรู้จักใช้สารเคมีอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เชื่อว่าแนวคิดการบริหารจัดการเคมี จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เคมีเพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง วัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาครั้งนี้ว่า เพื่อที่จะทำให้สังคมได้ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของสารเคมี การจัดการสารเคมีตามหลักสากล ในด้านการผลิตและการใช้สารเคมีอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมเคมีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมต้นน้ำของหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก อาทิ ปิโตรเคมี พลาสติก ยา เกษตร อาหาร ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ ในปี 2562 มูลค่ากว่า 1 แสน 2 พันล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ และมีการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอุปโภค-บริโภคในประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสน 8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นลำดับที่ 4 ของสินค้าที่มีการนำเข้าของไทย ดังนั้น สารเคมีจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ นับแต่ลืมตาตื่นนอนจนถึงเข้านอน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องปรุงอาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นผลิตผลมาจากสารเคมี หรือปฏิกิริยาทางเคมีทั้งสิ้น นอกจากนี้ ในภาคเกษตรกรรมยังมีการนำไปใช้สำหรับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์อีกด้วย ซึ่งในทางกลับกันหากใช้สารเคมีอย่างผิดวิธีก็อาจนำมาสู่ผลกระทบในแง่ลบต่อการดำรงชีวิตในหลาย ๆ ด้านเช่นกัน
ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและการบริหารจัดการสารเคมีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง งานเสวนาในครั้งนี้เราได้เชิญนักวิชาการหลากหลายภาคส่วนมาร่วมให้ความเห็นในบทบาท “เคมี พระเอก หรือ ผู้ร้าย” เพื่อให้สังคมได้มองเห็นแง่มุมทั้ง 2 ด้านของเคมีและมีความเข้าใจการใช้เคมีอย่างถูกต้อง
นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ / กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสวนาครั้งนี้ เราได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาจากองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน มาร่วมให้ความเห็นและแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการเคมีที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้เคมีของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยมุ่งเน้นการใช้สารเคมีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก พร้อมกันนี้ ยังได้หยิบยกกรณีศึกษา การแบน 3 สารเคมี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและกำลังเป็นที่สนใจของสังคมขณะนี้มาพูดคุยและเสนอมุมมองที่น่าสนใจให้สังคมได้พิจารณาอีกด้วย โดยในงานนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมให้ความเห็นในเรื่องต่าง ๆมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี
“ในงานเสวนาครั้งนี้ มีผู้เข้ารับฟังจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริหารจากองค์กรภาครัฐ กลุ่มผู้ผลิต ประชาชนที่สนใจ และสื่อมวลชน จำนวนรวมกันมากกว่า 150 คน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความเห็นและมุมมองของนักวิชาการที่ให้เกียรติมาในวันนี้ จะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจในบทบาทของสารเคมี ให้ความสำคัญกับการใช้งานและการบริหารจัดการเคมี และร่วมกันพัฒนา ต่อยอด ประสานการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีตามหลักสากล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดเป็นสำคัญ” นางสาวเพชรรัตน์ กล่าว
สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้แก่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนวรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทฮาซเคมโลจิสติกส์แมเนจเมนท์ จำกัด ประธานกลุ่ม Responsible care ® ดูแลด้วยความรับผิดชอบ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ผู้เชี่ยวชาญ Green Chemistry, ดร.นวลศรี ทยาพัชร ผู้เชี่ยวชาญ คณะทำงานสารตกค้างทางการเกษตร JMPR (FAO/WHO) และอดีตผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร, ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร, ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ตลอดจนศาสตราจารย์นายแพทย์ วินัย วนานุกูล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี
ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในงานเสวนาฯในครั้งนี้ ล้วนมองว่า “สารเคมี” ไม่ต่างจากเหรียญที่มี 2 ด้าน ซึ่งมีทั้งประโยชน์และโทษคู่กัน ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตอยู่คู่กับสารเคมีที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ คือ อ่านฉลากก่อนใช้งาน รู้จักสัญลักษณ์สารเคมี และสวมถุงมือหรืออุปกรณ์ป้องกันตนเองก่อนใช้ผลิตภัณฑ์เคมี ตลอดจนการใช้ตามคำแนะนำและปริมาณที่กำหนด เพื่อการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย และปราศจากผลข้างเคียงในด้านต่างๆ แล้วสังคมจะอยู่คู่กับเคมีได้อย่างปลอดภัย ทั้งยังสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน