มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ขับเคลื่อนโครงการธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี มุ่งยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้ชุมชน พร้อมสร้างกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ตำรับอาหารปูม้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและบริการวิชาการเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยภายหลังจาก การลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการธนาคารปูม้าและโครงการขยายผลธนาคารปูม้าในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ว่า ตนและทีมงานรู้สึกพอใจเป็นอย่างมากที่ได้เห็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จนสามารถขับเคลื่อนโครงการธนาคารปูม้า จนเห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้โครงการดังกล่าวทำให้จำนวนปูม้าในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสามารถเพิ่มรายได้ให้ชุมชนจากการประมงจับปูม้ากว่าเท่าตัว ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความยั่งยืน สร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน อีกทั้งยังสามารถสร้างกิจกรรมเพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวอีกด้วย
“ปัจจุบันม.วลัยลักษณ์มีการดำเนินการธนาคารปูม้าไปแล้ว จำนวน 87 แห่ง โดยมีศูนย์บริการวิชาการเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อน ลงไปสร้างศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะต่างๆในการทำธนาคารปูม้าให้กับชุมชน สร้างความตระหนักในการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมง รักษาซึ่งระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรปูม้าเพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้ขอขอบ คุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะผู้ร่วมวิจัย สำนักงานประมงจังหวัด ประมงอำเภอแต่ละพื้นที่ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยเครือข่ายในพื้นที่ รวมทั้งภาคเอกชน และที่สำคัญกลุ่มชาวประมงตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ประกอบการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ กล่าว
ด้าน นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ อดีตเลขาธิการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประธานคณะทำงานโครงการธนาคารปูม้าประเทศไทย กล่าวว่า โครงการธนาคารปูม้า เป็นโครงการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ โดยมอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้ามาให้การสนับสนุน โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ จัดการส่งเสริมองค์ความรู้ แก่พี่น้องประชาชน แถบชายฝั่งทะเลทั่วประเทศจำนวนกว่า 500 โครงการ ซึ่งผลการดำเนินโครงการในระยะแรกประสบความสำเร็จ ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรปูม้า และช่วยกันฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งทะเล
ซึ่งจากการลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี เห็นได้ถึงความพร้อมความเข้มแข็งของชุมชน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จนสามารถขับเคลื่อนโครงการธนาคารปูม้า ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม คณะรู้สึกชื่นใจ ที่งบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สามารถช่วยส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทรัพยากรทางทะเลถูกฟื้นฟูกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง และเชื่อแน่ว่าโครงการธนาคารปูม้า จะสามารถเป็นแกนหลัก ในการเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในชุมชนได้อย่างยั่งยืน หลังจากประสบความสำเร็จในเชิงปริมาณแล้วต่อไปในระยะที่ 2 จะเป็นการดำเนินงาน ในการส่งเสริมคุณภาพ ทั้งการต่อยอดด้านการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆอีกด้วย