ชาวไร่ยาสูบจังหวัดเพชรบูรณ์ ร้อง สส พลังประชารัฐ เดือดร้อนสาหัสพิษภาษีบุหรี่โดนตัดโควตา 3 ปีซ้อน วอนรัฐบาลอย่าซ้ำเติมอาชีพและความเป็นอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยจากโควิดด้วยภาษีบุหรี่ 40% ด้าน สส. พปชร. รับปากติดตามเรื่องกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังนายสันติ พร้อมพัฒน์ อย่างเร่งด่วน
สมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดประชุมสามัญประจำปี 2563 ณ สนามโรงเรียนบ้านลานบ่า ต. ลานบ่า อ.หล่มสัก เพื่อพูดคุยให้สมาชิกชาวไร่ยาสูบในพื้นที่กว่า 300 รายได้รับฟังสถานการณ์ด้านภาษีและการส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนที่กระทบอาชีพและปากท้อง โดยมี นายจักรัตน์ พั้วช่วย ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ ร่วมรับฟังสถานการณ์ความเดือดร้อนของชาวไร่ยาสูบ และรับปากช่วยประสานงานกับ รมช.คลัง เพื่อแก้ไขปัญหาขึ้นภาษีบุหรี่มหาโหดอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่ยาสูบยังมีอาชีพอยู่ต่อไป
นายสงกรานต์ ภักดีจิตร นายกสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า “ตั้งแต่มีการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่เมื่อปี 2560 ชาวไร่ยาสูบทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นคนได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะการขึ้นภาษีบุหรี่ทำให้ชาวไร่ยาสูบถูกลดโควตาการปลูกยาสูบ 50% รายได้ของทั้งจังหวัดหายไปเกือบ 200 ล้านบาทต่อปี โควตาของจังหวัดเพชรบูรณ์ปีนี้ยังเหลืออยู่ประมาณ 3 ล้านกิโลกรัม แต่ถูกถูกตัดโควตา 47% สามปีติดต่อกันแล้ว อยากให้รัฐบาลและกระทรวงการคลังเห็นใจเกษตรกรยาสูบที่ต้องพึ่งพารายได้จากการปลูกยาสูบเพื่อเลี้ยงครอบครัวบ้าง”
นายดีเซลล์ แก่นนาค ชาวไร่ยาสูบ จ. เพชรบูรณ์ รายหนึ่งกล่าวเสริมว่า “จะเข้าฤดูกาลปลูกยาสูบทีไร ก็มีแต่ความกังวล ต้องมาลุ้นว่าโควตาจะถูกตัดเหลือเท่าไร ปลูกๆ ไปก็ต้องมาลุ้นกับสภาพดินฟ้าอากาศ ถ้าฝนหนัก น้ำท่วม ต้นยาสูบเสียหาย ชาวไร่ก็หมดรายได้ทันที ความช่วยเหลืออะไรจากภาครัฐก็ไม่ค่อยได้รับ แถมยังต้องมาโดนซ้ำเติมด้วยการขึ้นภาษีทีละมากๆ ส่วนเรื่องพืชทดแทนที่รัฐบาลพูดมาหลายปีแล้วก็ไม่เห็นมีความก้าวหน้า จึงอยากฝากท่าน ส.ส. ทั้งสองคนช่วยเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวไร่ บอกให้รัฐบาลยกเลิกภาษี 40% ที่จะบังคับใช้เดือนตุลาคมปีหน้าไปเลย แทนที่จะแก้ปัญหาแบบปีต่อปี”
ก่อนเสร็จสิ้นการประชุม นายสงกรานต์และกรรมการสมาคมฯ เป็นตัวแทนระดมผ้าป่าไปรษณียบัตรจากชาวไร่ยาสูบให้กับนายจักรัตน์ พั้วช่วย ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ เพื่อฝากถึง รมช. สันติ กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง และการยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งชาวไร่ยาสูบได้เขียนถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากการขึ้นภาษียาสูบที่ผ่านมา ความกังวลต่อการหมดอาชีพหากมีการขึ้นภาษียาสูบเป็น 40% ในเดือนตุลาคม 2564 และขอให้มีการจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวไร่โดยเร็วที่สุด รวมถึงขอให้รัฐบาลทบทวนอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ให้ชาวไร่ยาสูบอยู่ได้ อย่าปรับขึ้นภาษีพรวดเดียวเท่าตัว 40%
“ทำไมรัฐบาลต้องให้ชาวไร่ต้องออกมาทวงถามถึงความช่วยเหลือและขอให้แก้ปัญหาทุกปี อยากฝากให้ท่าน รมช. คลัง และอธิบดีกรมสรรพสามิตคนใหม่ หาวิธีแก้ไขปัญหาใหม่ให้ชาวไร่ยาสูบที่มันยั่งยืนกว่านี้ ฤดูกาลปลูกยาปีนี้จะเริ่มกลางเดือนตุลาคมนี้แล้วเงินชดเชยปีที่แล้วเรายังไม่ได้รับ หากเรายังไม่ได้คำตอบภายในสิ้นเดือนตุลาคม พวกเราชาวไร่จากทั่วประเทศคงต้องเข้าไปกรุงเทพเพื่อสอบถามเรื่องนี้กับทางกรมสรรพสามิตโดยตรง” นายสงกรานต์ ทิ้งท้าย
ด้านนายจักรัตน์ พั้วช่วย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็น ส.ส.ยาสูบ ตนยังทำหน้าที่ในสภาฯ แทนกลุ่มชาวไร่ยาสูบที่จะเดินหน้าคัดค้านนโยบายขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ต่อไป และอยากให้รัฐบาลได้ปรับแผนนโยบายเรื่องนี้ใหม่ หากจะขึ้นภาษีเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบในอัตราที่เป็นเป้าหมายคือ 40% จริงๆ ก็ควรจะเป็นการขึ้นในอัตราแบบขั้นบันได ปรับภาษีขึ้นแต่ละครั้งในอัตราไม่สูง ค่อยยๆ ขึ้นไปจะดีกว่า ตอนนี้ผมประสานกับหลายฝ่ายก็เชื่อว่าเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะปรับนโยบายภาษีบุหรี่ใหม่ ทั้งนี้ ภารกิจเร่งด่วนที่ตนจะรีบดำเนินการคือการเร่งให้กระทรวงการคลังอนุมัติการจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้ชาวไร่โดยเร็วที่สุดภายในเดือนตุลาคมนี้
“การปรับภาษียาสูบแบบก้าวกระโดดจาก 20%ขึ้นไปเป็น 40%นั้นผมมองว่าจะทำให้เกิดความเสียหายทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น โดยเฉพาะตัวองค์การยาสูบเองที่เป็นผู้ผลิตบุหรี่ออกสู่ตลาด จะเห็นได้ว่าตั้งแต่มีการขึ้นภาษีมาองค์การยาสูบมีการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะนักสูบหันไปซื้อบุหรี่ต่างประเทศที่มีราคาต่ำกว่าของไทย แน่นอนว่าเมื่อผลิตแล้วขายไม่ได้ ก็ต้องลดยอดการผลิตทำให้มีผลต่อการลดจำนวนโควตาการปลูกยาสูบของเกษตรกร และตรงนี้เกษตรกรจะได้รับผลกระทบโดยตรงซึ่งเสียหายมาก
เรื่องนี้ผมเองไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามหาทางช่วยเหลือเกษตรกรอยู่ตลอด ในเบื่องต้นเรามองว่าการขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดดนี้เป็นการหักหาญกันเกินไป และเก็นว่าหากจำเป็นต้องขึ้นภาษียาสูบเพื่อเป็นการจำกัดจำนวนผู้บริโถคจริงก็ควรจะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในเรื่องดังกล่าวได้มีการปรึกษากับทางผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังแล้ว ท่านก็เห็นถึงปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งต่อไปก็จะเป็นการขับเคลื่อนกันในสภาฯ และเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ เพราะจะเป็นประโยชน์กับทุกๆฝ่ายทั้งเกษตรกร องค์การยาสูบ หรือแม้แต่ผู้สูบเองจะได้มีการปรับตัวไปพร้อมๆกัน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะผลักดันภาษียาสูบให้ขึ้นอย่างก้าวกระโดดต่อไปจริงๆ ผมก็ขอยืนหยัดที่จะต่อสู้ร่วมกับเกษตรต่อไปเพื่ออนุรักษ์ให้อาชีพการปลูกยาสูบยังอยู่คู่กับจังหวัดเพชรบูรณ์ และที่อื่นๆต่อไป และต้องอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี” นายจักรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีทั้งการปลูกยาสูบและยาเส้น ซึ่งชาวไร่ทั้งสองกลุ่มต่างได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดด และเรียกร้องให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ทบทวนอัตราการเก็บภาษีให้มีความเหมาะสม ไม่สร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรในพื้นที่