ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ‘เอไอเอส’ ยังคงอยู่เคียงข้างสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยภารกิจคิดเผื่อ เพื่อคนไทย ที่กลับมาอีกครั้งปีนี้ ในงาน AIS Academy for Thais: JUMP THAILAND ในรูปแบบ Hybrid Event (On-Ground และ Virtual LIVE Event) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ขนทัพองค์ความรู้จากพันธมิตรชั้นนำระดับประเทศ ชวนคนไทยพร้อมกระโดดสู่การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ สู้ศึกใหญ่หลังวิกฤตไปด้วยกัน ผ่าน 3 โครงการ ที่จะช่วยพลิกฟื้นชีวิตให้คนไทยและประเทศไทยกลับมาแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน 1. JUMP to Innovation กระโดดสู่ความเหนือกว่าด้วยนวัตกรรมของคนไทยเพื่อความยั่งยืนของประเทศ 2. JUMP over the Challenge กระโดดสู่ความท้าทายใหม่บนเส้นทางอาชีพที่คุณสร้างได้เอง 3. JUMP with EdTech กระโดดสู่การเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในวันที่ต้องรีสกิล โดยได้รับความสนใจมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่าหนึ่งหมื่นคน
งานในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรหลายวงการทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และส่งต่อแนวคิดในการแก้ปัญหาและก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ โดยมีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยฟื้นตัวได้เร็วและเป็นรากฐานในการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่อย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากความรู้ที่ได้จากงานนี้แล้ว ยังมีโครงการใหญ่ที่ชวนคนไทยกระโดดไปด้วยกันอีก เริ่มด้วย JUMP to Innovation ที่เกิดจากความตั้งใจของเอไอเอสในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศและพร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด ที่ผ่านมา เอไอเอส ได้พัฒนาโครงการต่างๆ เช่น School Van Safety ช่วยแก้ปัญหาเด็กถูกลืมในรถโรงเรียน, AI Juandice Monitor หรือการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยตรวจอาหารตาเหลือง ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคมะเร็งตับ และ Forest Fire Detection อุปกรณ์ตรวจจับไฟป่าด้วยเทคโนโลยี Iot Satellite และยังเป็นที่มาของภารกิจเฟ้นหาสุดยอดไอเดียจากทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ JUMP Thailand 2021 เพื่อให้คนไทยมาร่วมแรงคิดสร้างนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาสำคัญต่างๆของประเทศในรูปแบบการแข่งขันระดมสมองนำเสนอผลงานในรูปแบบ Hackathon และการบ่มเพาะนวัตกรรม โดยผู้ที่สนใจร่วมโครงการ JUMP Thailand สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และร่วมส่งหัวข้อปัญหาที่คุณคิดว่าควรเร่งแก้ไขที่สุดได้ตั้งแต่วันนี้ ทาง www.jumpthailand.earth
ต่อด้วย JUMP over the Challenge ซึ่งจากภาวะวิกฤตที่ผ่านมา หลายคนต้องล้มลุกคลุกคลาน ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ตัวช่วยแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยม คือการลุกขึ้นให้เร็ว และเดินหน้าต่อด้วยองค์ความรู้และทักษะอาชีพใหม่ โครงการ “อุ่นใจอาสาพัฒนาอาชีพ” เป็นอีกหนึ่งโปรเจคที่เข้ามาช่วยร่นระยะเวลาในการฟื้นตัวให้กับคนไทยทุกคน ผ่านการเรียนรู้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ ถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะอาชีพที่จำเป็นในยุคนี้ ตลอดจนขยายช่องทางการเข้าถึงองค์ความรู้ เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้และเข้าถึงฟรี ด้วยการร่วมสร้างโอกาสให้คนไทย ได้มีอาชีพเสริม สร้างรายได้ ผ่านการถ่ายทอดทักษะความรู้จากอุ่นใจอาสา สำหรับผู้ที่สนใจ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ ผ่าน Facebook Page: AIS Academy for Thais หรือ YouTube Channel: AIS Academy
ปิดท้ายกับ JUMP with EdTech โดย AIS Academy ในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคม ตระหนักถึงกระแส Digital Disruption ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนและสังคมอยู่ตลอดเวลา จึงพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ “LearnDi for Thais” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ จึงได้ผนึกกำลังความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรเพื่อร่วมพัฒนากลุ่มเยาวชนในวัยเรียน เปิดโครงการ “The Tutor Thailand by AIS Academy” เชิญชวนผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในหลากหลายสาขา มาร่วมกันยกระดับการเรียนรู้ของเยาวชนไทย โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการติดอาวุธจากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มทักษะและขีดความสามารถให้มากยิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรม The Tutor Boot Camp ที่จะพัฒนาทักษะให้เหล่าติวเตอร์ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผู้สนใจโครงการ “The Tutor Thailand” สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และสมัครเข้าร่วมโครงการผ่าน www.aisacademy.com
นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เอไอเอส และกลุ่มอินทัช กล่าวว่า “AIS Academy for Thais เป็นสิ่งที่เอไอเอสเดินหน้าทำมาตลอด 5 ปี เพราะเชื่อว่า เราสามารถเป็นมือเล็กๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้น ทำให้คนในสังคมสามารถอยู่ได้ในภาวะโควิด-19 ที่ทำให้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปมาก วันนี้ AIS Academy for Thais กลับมาในรูปแบบใหม่ ที่สรรค์สร้างมาจากความตั้งใจที่จะทำให้คนไทยได้องค์ความรู้ใหม่ได้กว้างไกลขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเรามีศักยภาพของ 5G เข้ามาช่วย ทำให้เราสื่อสารไปหาคนไทยในบริเวณกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภารกิจเหล่านี้ที่เอไอเอสทำ ไม่ได้ทำเพื่อแสวงหากำไร แต่เป็นภารกิจ ขององค์กรที่ยึดมั่นว่า เราเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมไทย ซึ่งเป็นดีเอ็นเอคนเอไอเอส และเราหวังว่า สิ่งที่เราทำในวันนี้จะกลายเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้ องค์กรอื่นๆ ลุกขึ้นมา ทำงานในรูปแบบเดียวกับเราเพื่อสร้าง ความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม และประเทศไทย”
ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “ในเรื่องการพัฒนา คุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องนำนวัตกรรมต่างๆ ไปช่วยเด็กเพื่อพัฒนาศักยภาพ ยกระดับความสามารถให้มีได้หลากหลาย เพราะโลกในปัจจุบัน ต้องการคนที่มีความสามารถครบจบในคนเดียว ความท้าทายของการศึกษาจึงไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐแล้วเท่านั้น ภาคเอกชนจึงมีส่วนสำคัญในการเข้ามาพัฒนาหลักสูตร แล้วผลลัพธ์จะคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม ตอบแทนกลับมาทุกฝ่าย”
อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในเชิงขององค์กร เราพยายามโฟกัสเรื่องคน สร้างคนให้ตามทันสกิลใหม่ๆ ในโลกใหม่ๆ ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ วิธีการให้การศึกษาของเรา เพราะคนไทยส่วนใหญ่ชอบสอนให้ “แก้โจทย์” แต่ฝรั่งจะสอนให้ “ตั้งโจทย์” นวัตกรรมจะเกิดได้ต่อเมื่อเราตั้งโจทย์ ไม่ใช่ แก้โจทย์ นวัตกรรมแรกที่ต้องทำก็คือ Mindset ของตัวเอง และนวัตกรรม Mindset ขององค์กร ถ้าองค์กรไม่เปลี่ยนวัฒนธรรมตัวเอง ยังไงก็ได้สิ่งเดิม เพราะมันก็คือวิธีการทำงานเดิมๆ และคนที่จะต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างคือซีอีโอ”
คุณสุดารัตน์ สุขแสงรัตน์ อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าว ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้าน แซ่บ..ซดโฮก by พี่หน่อง เล่าว่า “ในชีวิตการทำงานของพี่คือสื่อ แต่เมื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เติบโตขึ้นจนเกิดการเปลี่ยนแปลง งานที่มันเลี้ยงชีวิตเรา มันเลี้ยงเราได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง แต่เราโชคดีที่เป็นคนชอบเรียนรู้อยู่แล้ว เรียนโดยไม่ต้องรอให้บาดเจ็บก่อน เพราะวันแห่งความปลอดภัยไม่มีอยู่จริง เรายังโชคดีที่เราสามารถเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของคนอื่นผ่านโลกดิจิทัลได้ เพราะทุกอย่างคือ “โค้ช” ที่สอนเรา เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด”
สุธีร์ อัศววิมล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหาร บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชนไทย เล่าถึงความสำคัญของการเรียนรู้ว่า “ในเรื่องของการศึกษาถ้าจะมีการเหลื่อมล้ำกันในประเทศ อย่าให้มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีการเรียนรู้ เพราะถ้าความเหลื่อมล้ำตรงนี้กลายเป็นความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำในชีวิตจริงมีโอกาสแก้ไขได้ ตรงนี้คือการเปิดเกมของดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อการเรียนรู้ เป็นประเด็นหลักในประเทศนี้ที่ต้องแก้ไขและเดินหน้าต่อไป ก่อนที่จะไปถึงเรื่องศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในเรื่องต่างๆ”