สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง The Role of Government in multi-sectoral collaboration in response to COVID-19 เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
โดยมีผู้แทนภาครัฐจาก 3 ประเทศ ไทย-บังคลาเทศ-เมียนมาร์ ร่วมสะท้อนมุมมอง และมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากภาครัฐ ประชาสังคม วิชาการ เยาวชน องค์การระหว่างประเทศ จากประเทศไทย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ ตูนีเซีย อินเดีย ซึ่งวงเสวนาเห็นตรงกันว่า “พลังความร่วมมือกับหลายภาคส่วน” หนุนการทำงานภาครัฐได้เป็นอย่างดี
ด้านบังคลาเทศระบุการระดมทรัพยากรมาใช้ร่วมกันคือหัวใจของความสำเร็จ ขณะที่เมียนมาร์เสนอสร้างความเข้มแข็งระบบหลักประกันสุขภาพ ตั้งรับวิกฤตสุขภาพที่ไม่คาดคิดในอนาคต
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกคนในสังคม ดังนั้นการแก้ไขจึงต้องใช้ทั้งนโยบาย การสั่งการที่มีประสิทธิภาพจากภาครัฐ ไปพร้อมกับความร่วมมือจากหลายส่วนในสังคม แต่การสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วนนั้นไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นได้ภายในวันเดียว และนับเป็นโชคดีของสังคมไทยที่มีการสร้างความร่วมมือแบบหลายภาคส่วนมาก่อนโควิด-19 ด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ จึงสามารถนำมาปรับใช้กับวิกฤตครั้งนี้ได้ แต่เราจำเป็นต้องมีกลไกที่สนับสนุนความร่วมมือชนิดนี้ เพื่อให้สิ่งนี้คงอยู่ได้แม้จะไม่ใช่ในภาวะวิกฤตก็ตาม
ศ.ดร.นพ.โกแลม ราบินี ประธานด้านความพิการทางระบบประสาท ในคณะกรรมการกองทุนความคุ้มครอง กระทรวงการสวัสดิการทางสังคม ประเทศบังคลาเทศ กล่าวว่า ประเทศบังคลาเทศตั้งคณะกรรมการระดับประเทศที่มีผู้แทนจากหลายภาคส่วน เช่น วิชาการ แพทย์ ภาคประชาสังคม และประชาชนเพื่อหามาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน ทั้งในเมืองและชนบทในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ความสำเร็จของการทำงานแบบหลายภาคส่วน คือการระดมทรัพยากรทั้งภาครัฐและเอกชนมาใช้ป้องกันการแพร่ระบาดร่วมกัน และการร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่ปลดล็อคอุปสรรคในการทำงานของภาครัฐ
ด้าน ดร.จอว คาย รองอธิบดีสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงสุขภาพและกีฬา ประเทศเมียนมาร์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน การเสริมสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งจะช่วยเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชน และมาตรการให้ความช่วยเหลือทางสังคมเพื่อบรรเทาปัญหาในภาวะวิกฤต และเราจึงต้องบรรลุการสร้างความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ไม่ใช่แค่เฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังรวมถึงช่วงหลังการแพร่ระบาดด้วย และชุมชนจะมีส่วนสำคัญที่จะมาร่วมแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วงได้