“วิษณุ”พลิกกฎหมายงัดพรก.ฉุกเฉินรวบผู้ชุมนุม

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า มีอยู่ 2 กรณี ตามมาตรา 5 ซึ่งวันนี้ยังใช้อยู่ ทั่วราชอาณาจักรในสถานการณ์โควิด-19  กับการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ขณะนี้ประกาศใช้เฉพาะกรุงเทพมหานครที่เบื้องต้นมีกรอบ 30 วัน  จนถึงวันศุกร์ที่ 13 พ.ย.63 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมสามารถยกเลิกได้ทันทีเมื่อเห็นสถานการณ์เบาบางลง โดยไม่ต้องเรียกประชุม ครม. ส่วนเคอร์ฟิวจะประกาศเมื่อไรก็ได้   ทั้งนี้ เงื่อนไขที่จะประกาศวันนี้ยังไม่มีใครคิดและพูดถึงเรื่องนี้ ส่วนการประเมินสถานการณ์การชุมนุมรายวันนั้น เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ต้องประเมินอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงกรณีพรรครวมฝ่ายค้านเรียกร้องให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อหาทางออกการชุมนุม นายวิษณุ กล่าวว่า เหลือเวลาอีก 2 สัปดาห์จะเปิดสมัยประชุมสามัญ กว่าจะออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อประชุมสภาสมัยวิสามัญเสนอขึ้นไปก็เปิดสภาสมัยสามัญพอดี ทั้งนี้ 1 พ.ย.เปิดแล้วไม่มีใครไปทัดทานได้ และเปิดไปอีก 120 วัน

เมื่อถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อหาต่อผู้ชุมนุมที่ค่อนข้างร้ายแรง นานวิษณุ กล่าวว่า ไม่ขอตอบ เพราะตนไม่รู้เรื่องว่าเขาตั้งข้อกล่าวหาอะไร ส่วนที่เย็นวันเดียวกัน (16 ต.ค.) กลุ่มคณะราษฎรจะยังคงนัดชุมนุมที่ราชประสงค์นั้น ก็เป็นสิ่งที่เขานัด

ถามถึงสิ่งที่ตำรวจประกาศว่า ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมวานนี้ผิดกฎหมายทั้งหมดนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ถูกต้อง เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ  ไม่ว่าจะที่มีความร้ายแรงหรือไม่นั้น ไม่ใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะ โดยตามรัฐธรรมนูญแม้บุคคลจะมีเสรีภาพชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย เป็นเรื่องจริง ตามมาตรา 44  แต่มีวรรคสอง ที่ระบุว่าอาจจะจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งได้ ในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ซึ่งวันนี้มีแล้ว จึง เป็นข้อจำกัดของเสรีภาพนั้น มาอ้างเสรีภาพเต็ม 100% คงไม่ได้  ดังนั้น เงื่อนไขจะไปอยู่ใน พ.ร.ก. ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะอำนวยความสะดวกโดยการออกคำชี้แจงว่าการชุมนุมหากไปทำกิจกรรมทางสังคม ทางธุรกิจ หรือวัฒนธรรม เช่น งานศพ สังสรร รื่นเริงแม้จะเกิน 5 คน เป็น 100 เป็น 1,000 ก็สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะผิดเฉพาะกรณีออกข้อกำหนดนั้นๆ มา

เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีเป็น 10,000 เป็น 100,000 คน จะบังคับใช้กฎหมายอย่างไร นายวิษณุ กล่าววว่า ก็แล้วแต่ทางตำรวจ ตนไม่ได้ให้แนวทางกับทางเจ้าหน้าที่เพราะเขาชำนาญอยู่แล้ว  โดย พ.ร.ก.นี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ยกระดับตามมาตรา 11  คือ สามารถเข้าไปจับกุม ยึด ทำลาย รื้อเวที สั่งห้ามเข้าสถานที่ ไปไกลจนไปถึงสั่งเนรเทศออกนอกประเทศได้ แต่วันนี้ยังไม่ได้ใช้ เพราะไม่สามารถใช้กับคนไทยได้ บางกรณีใช้กับชาวต่างชาติ  ส่วนเจ้าพนักงาน สามารถตัดสินใจได้เลยหรือไม่นั้น เป็นการพิจารณาของผู้อำนวยการสถานการณ์ ก็คือ ผบ.ตร.