นักเศรษฐศาสตร์มองนโยบายของไบเดนที่ส่งผลต่อไทย

หลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาออกมาแล้ว แน่นอนว่าจะต้องมีผลกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน แต่จะเป็นไปในรูปแบบไหน “อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ประเมินว่่า ผลของนโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภูมิภาค เศรษฐกิจไทยและตลาดการเงิน ว่า ในเบื้องต้น ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแสดงให้เห็นว่า โจ ไบเดนชนะด้วยคะแนนเสียงที่ค่อนข้างมากทั้งคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (มากกว่า 100 เสียง) และคะแนน Popular Vote จากประชาชน มากกว่า ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ คู่แข่งกว่า 4 ล้านเสียง คิดเป็น 51% ต่อ 48%

การที่โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเด็ดขาดและแสดงสุนทรพจน์เพื่อสร้างความสมานฉันท์ปรองดองกับผู้สนับสนุนโดนัล ทรัมป์และประกาศเยียวยาสังคมแบ่งแยกแตกแยกในช่วงที่ผ่านมา ความรุนแรงทางการเมืองไม่น่าจะเกิดขึ้นหรือถูกจำกัดวง สร้างความชัดเจนการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติและสร้างเสถียรภาพทางการเมืองสหรัฐฯ การชุมนุมประท้วงผลการเลือกตั้งอย่างจำกัดหรือมีการสั่งให้นับคะแนนใหม่โดยศาลในบางรัฐจะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งและไม่ส่งผลทำให้กระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ต้องล่าช้าออกไป ภาวะดังกล่าวจะส่งผลบวกอย่างยิ่งต่อการลงทุนในตลาดการเงินและความเชื่อมั่นการลงทุนและเศรษฐกิจในระยะสั้น นอกจากนี้ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯยังส่งสัญญาณชัดเจนเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดโรค Covid-19 คาดว่าผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุขจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในระดับนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 จะมีการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของ Covid-19 เชิงรุกซึ่งน่าจะทำให้สถานการณ์การติดเชื้อคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ส่งผลดีทางเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยง lockdown รอบสองในสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวเร็วกว่ายุโรปมากเนื่องจากยุโรปต้องเผชิญการ Lockdown และการระบาดระลอกสอง

เมื่อวิเคราะห์ถึงนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนและคณะ ว่า มีผลต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภูมิภาค เศรษฐกิจไทยและตลาดการเงิน รวมทั้งธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆหลากหลายลักษณะ แต่โดยภาพรวมเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะภูมิเอเชีย ทีมงานของคณะผู้บริหารทำเนียบข่าวชุดใหม่จะมีแนวคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมผสมสังคมนิยมประชาธิปไตยอ่อนๆ ถือเป็นกลุ่มผู้นำทางการเมืองสายกลางค่อนมาทางซ้าย กรอบความคิดและจุดยืนในประเด็นต่างๆของ “โจ ไบเดน” สะท้อนว่าการเผชิญทางการเมือง เศรษฐกิจและทางการทหารในภูมิภาคต่างๆทั่วโลกจะลดลง โลกจะมีสันติภาพมากขึ้น ระบบการค้าเสรีของโลกภายใต้ข้อตกลงแบบพหุภาคีจะกลับมามีบทบาทมากขึ้น TPP (Trans-Pacific Partnership) จะถูกรื้อฟื้นอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับเรื่องการตัดจีเอสพีต่อสินค้าไทยสมัยโดนัล ทรัมป์นั้น นายอนุสรณ์ ธรรมใจ เชื่อว่า ทางการไทยสามารถยื่นขอให้ทบทวนให้ได้รับสิทธิกลับคืนมาได้ ด้วยการนำเรื่อง สิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนและประเด็นสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานสากลเป็นข้อแลกเปลี่ยนได้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางลบต่อภาคส่งออกไทยและเศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่มากนักจากการตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯต่อสินค้าไทยครั้งล่าสุด เพราะอัตราการขยายตัวภาคส่งออกไทยไปสหรัฐฯยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและน่าจะเพิ่มอีกในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขณะที่สินค้าไทยที่เป็นคู่แข่งกับจีน การเติบโตอาจลดลงบ้าง

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่านโยบายเก็บภาษีเพิ่มทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% เก็บภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มจาก 37% เป็น 39% และวางแผนจะเก็บภาษีเงินกำไรจากเงินลงทุน (Capital gain tax) โดยเก็บจากคนที่รายได้ตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ต่อปีขึ้นไปนั้น จะไม่มีผลต่อการปรับฐานของตลาดหุ้นสหรัฐฯในระยะนี้ เพราะคาดว่า นโยบายภาษีของโจ ไบเดนน่าจะถูกนำมาใช้หลังจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินสหรัฐฯมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นปี ค.ศ. 2022 เป็นอย่างเร็ว ส่วนการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อชดเชยรายได้ของผู้ว่างงานและไม่ตัดลดสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดโดยปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมนุษย์เข้มข้นจะย้ายฐานมาทางภูมิภาคเอเชียมากขึ้น กดดันให้ดอลลาร์อ่อนลง ค่าเงินภูมิเอเชียแข็งค่าขึ้น ความเคลื่อนไหวค่าเงินภูมิภาคเอเชียก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา โดยเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดรองลงมาจากค่าเงินรูเปียห์อินโดนีเซีย และมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น กระแสเม็ดเงินระยะสั้นเก็งกำไรไหลเข้าตลาดการเงินของไทย แนวโน้มการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นและการซื้อสุทธิของนักลงทุนสถาบันต่างชาติยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องแต่ถูกจำกัดลงจากความเสี่ยงวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญและการเมืองในประเทศไทย

ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาในยุคโจ ไบเดน น่าจะทำให้ CPTPP ลดความสำคัญลง และ จะมีรื้อฟื้น TPP ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค แต่ “ไทย” จะได้รับประโยชน์อย่างจำกัดเพราะ “ไทย” ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าทั้งสองเวที จึงขอเสนอให้ “สำนักผู้แทนการค้าไทย” และ “กระทรวงพาณิชย์” เร่งรัดเข้าสู่การเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิก TPP หากมีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนนโยบาย Buy American ของโจ ไบเดน คงไม่ส่งผลต่อการซื้อสินค้าต่างชาติและภาคส่งออกเท่านโยบาย America First ของ “โดนัล ทรัมป์” อย่างแน่นอน

สหรัฐอเมริกาน่าจะดำเนินนโยบายต่อจีนในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจมากกว่าในฐานะคู่แข่งทางเศรษฐกิจและศัตรูทางเศรษฐกิจการค้าที่ต้องใช้มาตรการภาษีตอบโต้ หรือคว่ำบาตรด้วยมาตรการทางธุรกิจและกฎหมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯภายใต้ “รัฐบาลโจ ไบเดน” น่าจะใช้ Non-Tarriffs Barriers หรือ ข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในการตอบโต้ต่อจีนและประเทศเอเชียบางประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและปัญหาสิ่งแวดล้อม แนวโน้มด้านสงครามการค้าโดยรวมย่อมผ่อนคลายขึ้นแต่ไม่หมดไป เพราะสหรัฐฯยังต้องการจำกัดการขยายอิทธิพลและบทบาทจีนในภูมิภาคและในโลก นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดการกีดกันการค้าลงจะส่งบวกโดยเฉพาะผลดีอย่างมากต่อธุรกิจอุตสาหกรรมไทยที่มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมต่อกับสินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐฯ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางเป็นส่วนประกอบสำคัญ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไม้และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

เงินทุนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจพลังงานน้ำมันฟอสซิลและก๊าซธรรมชาติอาจเคลื่อนย้ายมายังประเทศเอเชียและประเทศดาวรุ่งทางเศรษฐกิจหรือตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ธุรกิจเหล็กและอะลูมิเนียม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ก็อาจเคลื่อนย้านมาทางอาเซียนมากขึ้น กรณีธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมอาจจะมีการลดกำแพงภาษีลง ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมทางด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกจะเติบโตเพิ่มขึ้นพร้อมกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์แบบใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine) พลวัตดังกล่าวตอกย้ำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยต้องเร่งปรับตัวโดยด่วนและต้องลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาน่าจะไม่ลดความช่วยเหลือทางการทหาร ทางเศรษฐกิจ ทางการศึกษาวิจัย เพราะไม่ต้องการลดบทบาทตัวเองในฐานะผู้นำโลก ซึ่งจะต่างจากนโยบายของโดนัล ทรัมป์ที่เน้น American First จึงตัดความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ต่อพันธมิตรและองค์กรระหว่างประเทศเกือบทั้งหมด และคาดว่าการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรค Covid-19 และโรคระบาดอุบัติใหม่ ในระดับโลกจะดีขึ้นจากการที่สหรัฐฯน่าจะสนับสนุนองค์การอนามัยโลกมากขึ้น ขณะที่ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำสหรัฐฯและผู้อำนวยการอนามัยโลกไม่ราบรื่น

นอกจากนี้สหรัฐฯ น่าจะกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสว่าด้วยบรรยากาศโลกและปัญหาภาวะโลกร้อน (Paris Climate Agreement) อีกครั้งหนึ่ง หลังจากถอนตัวอย่างเป็นทางการในสมัยรัฐบาลทรัมป์ การออกจากข้อตกลง Paris Climate Agreement จะเป็นผลบวกต่อธุรกิจอุตสาหกรรมถ่านหินและพลังงานน้ำมันฟอสซิล อย่างไรก็ตาม ก็กลับเข้าสู่ข้อตกลงอาจไม่เกิดขึ้นโดยง่ายเพราะวุฒิสภาอาจไม่ทำตามสิ่งที่รัฐบาลโจ ไบเดนต้องการ แม้น “โจ ไบเดน” ได้กล่าวไว้ในระหว่างการหาเสียงว่า ต้องการเข้าสู่ข้อตกลงปารีสโดยเร็วที่สุด การแก้ปัญหาชั้นบรรยากาศโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนจะยากขึ้นหากสหรัฐฯไม่เข้าร่วม เพราะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 15% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ตนมีความเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านจาก “พลังงานฟอสซิล” สู่ “พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาด” เป็นสิ่งที่จะช่วยหยุดความแปรปรวนของภูมิอากาศ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและต่อคุณภาพชีวิตจากมลพิษทางอากาศและภาวะโลกร้อนได้ ประเทศรัสเซีย จีน และ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางก็จะลดการลงทุนหรือขยายการผลิตพลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและภาวะโลกร้อนลงหากสหรัฐฯกลับเข้ามาร่วม Paris Climate Agreement

อย่างไรก็ตามรัฐบาลสหรัฐฯเข้าร่วมหรือไม่ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธุรกิจรักษ์โลกจำนวนไม่น้อยได้ร่วมกันก่อตั้ง American’s Pledge นำโดย เจอร์รี บราวน์ อดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย และ ไมเคิล บลูมเบิร์ก นักธุรกิจและอดีตนายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก มีการตั้งเป้าหมายจะลดมลพิษทางอากาศลง 19% ในปี ค.ศ. 2025

นายอนุสรณ์ กล่าวให้ความเห็นเสนอแนะในช่วงท้าย ว่าทางการไทยควรให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น เพราะเชื่อว่า ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่พรรคแดโมแครตเป็นรัฐบาลและมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทน รัฐบาลสหรัฐฯจะดำเนินการเชิงรุกในการนำเอาประเด็นเหล่านี้เข้ามาอยู่ในการเจรจาทางการค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ