พช.เสริมแกร่งชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ยกระดับพร้อมพัฒนาสมุนไพรไทยก้าวสู่สากล

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กิจกรรมยกระดับและพัฒนาเพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว (ผลิตภัณฑ์คลัสเตอร์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร) ภายใต้กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน มีผู้เข้าอบรมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน และผู้ประกอบการ OTOP จากทั่วทุกภูมิภาคจำนวนกว่า 131 ราย จาก 51 จังหวัด โดยมีนายสุรศักดิ์ อักษรกุล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน (พช.) กล่าวรายงาน ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

ในการนี้นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอาจณรงค์ สัตยพานิช ผู้ตรวจราชการกรม นางวรรณา ลิ่มพานิชย์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนเชี่ยวชาญ และทีมวิทยากรประกอบด้วย นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ ประธานที่ปรึกษาคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย พร้อมด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญ นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนักออกแบบ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “สิ่งสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถขายได้นั้นต้องรู้จักการร้อยเรียงเรื่องราวให้ผู้คนสนใจใคร่รู้ อยากพิสูจน์ อยากเข้ามาสัมผัส สิ่งที่กรมการพัฒนาชุมชนมุ่งหวังให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ประการแรกคือการเพิ่มพูนศักยภาพ มีความรู้ความเข้าใจที่แตกฉานจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ สามารถมองเห็นและดึงเอาสิ่งที่ดีเด่นจากหมู่บ้าน ชุมชน ของตนเองไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ประเพณีวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ หากไม่มีก็ต้องสร้างขึ้นมา และรังสรรค์เรื่องราวให้น่าติดตาม ตอกย้ำให้เกิดความจดจำในความถี่ที่สม่ำเสมอ ประการที่สองคือการสร้างเครือข่าย โดยเครือข่ายที่เกิดขึ้นในที่นี้ ได้แก่ เครือข่ายผู้ทรงความรู้ วิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายผู้ประกอบการที่มาจากหลากหลายภูมิภาคซึ่งต่างมีของดีของตนเอง เหล่านี้จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการร่วมสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมความคิด เพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ นำไปสู่ความแพร่หลายของผลิตภัณฑ์ทั้งในและนอกภูมิภาคต่อไปได้ ประการที่สาม คือการนำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมา เป็นช่องทางช่วยในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักได้มากที่สุด เช่นสิ่งที่ทุกคนมีในมืออย่างโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถเข้าถึงสื่อสังคม Online เช่น Facebook, Line, YouTube เปรียบเหมือนทุกคนสามารถมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตนเองได้ ซึ่งสามารถเข้าถึงลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายโดยใช้ต้นทุนที่ต่ำ อย่างไรก็ดีเหล่านี้เป็นเพียงการเสริมสร้างศักยภาพเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่การสร้างและรักษาความเป็นต้นตำรับ คุณภาพ มาตรฐานของผลิตภัณฑ์และบริการ จึงขอฝากแง่คิดว่าสิ่งที่ทุกคนมีเท่ากันคือโอกาส และเวลา แต่ความสำเร็จของแต่ละคนไม่เท่ากัน ผู้ที่จะประสบความสำเร็จคือผู้ที่ประกอบไปด้วยความเพียร มานะและอดทน ซึ่งเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดความสำเร็จได้ในที่สุด ดังนั้นผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เมื่อได้รับโอกาสในการพัฒนาแล้วต้องลงมือทำ เพราะทุกคนล้วนสามารถช่วยยกระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ให้เกิดความเข้มแข็งสามัคคีซึ่งเป็นดังจุดเริ่มต้นในการพัฒนาให้หมู่บ้าน ชุมชนของพวกเราให้เป็นดังห้องรับแขกบ้านแขกเมือง ตกแต่งให้งดงามดึงดูดให้ผู้คนอยากไปเยี่ยมเยือนชื่นชม” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว

ทั้งนี้การอบรมตามโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กิจกรรมยกระดับและพัฒนาเพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว (ผลิตภัณฑ์คลัสเตอร์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร) ภายใต้กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในครั้งนี้ จัดขึ้นในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ตามแนวคิด “secret of herbs ยกระดับสมุนไพรไทยสู่สากล” เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการชุมชนOTOP นวัตวิถี ให้มีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เฉพาะของหมู่บ้าน ทั้งยังยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวสามารถสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในชุมชน ผ่านกิจกรรมอบรมออกแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์คลัสเตอร์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารโดยการดึง 8 เสน่ห์ของชุมชนมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของที่ระลึกของชุมชน (อาหาร การแต่งกาย ที่อยู่อาศัยประเพณี ภาษา อาชีพ ความเชื่อ และศิลปะในพื้นที่) เปลี่ยนจากแนวความคิดเดิมที่มุ่งเน้นการผลิตหรือตัวผลิตภัณฑ์ (Product Oriented) มาเป็นการเข้าถึงความต้องการที่ซ่อนอยู่ (Hidden Need) เพื่อค้นหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ,การให้ความรู้ หัวข้อ “ขายอย่างไร ขายที่ไหน ให้โดนใจลูกค้า (Content / Channel)”และค้นหา 8 เสน่ห์วิถีชุมชน เพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์ตรงใจ (Branding) ,กิจกรรม Work Shop ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญได้แลกเปลี่ยนกันเพื่อเก็บข้อมูลผลิตภัณฑ์วิเคราะห์ศักยภาพและจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์หรือฉลาก จำนวน 131 ผลิตภัณฑ์ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร นักพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ และด้านการตลาด โดยมุ่งให้ผู้ผลิตภัณฑ์ผู้ประกอบการในชุนชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี คลัสเตอร์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินงานโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวน 3,680 ชุมชน/หมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านให้ได้ใช้ศักยภาพและมีความพร้อมที่จะรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวได้อย่างครบวงจร ทั้งในเรื่องทักษะการบริหารจัดการของหมู่บ้านในด้านต่าง ๆ การจัดทำกิจกรรมที่ให้บริการนักท่องเที่ยว การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชนมีโปรแกรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ แปลงเป็นรายได้ สร้างช่องทางการตลาดที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกระแสหลักที่เป็น “แอ่งใหญ่” ดึงดูด ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสเสน่ห์ของหมู่บ้านที่เป็น “แอ่งเล็ก” สร้างเครือข่ายของธุรกิจ บนพื้นฐานความร่วมมือและการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงพัฒนาการสื่อสารด้านการตลาดผ่านสื่อสังคม Online การยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยวได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ รวมทั้งเสริมสร้างความสามารถและความเข้มแข็งของชุมชนต่อไป