“คนล่ะครึ่ง”..โครงการดีๆจากดำรินายก

โครงการคนละครึ่งถือเป็นโครงการที่ได้รับการกล่าวถึงกันมากในสังคมไทยวันนี้ เพราะได้ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนไปได้มากในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ โดยงานนี้ต้องยกความดีให้กับนายกฯประยุทธ์ที่คิดริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในลักษณะร่วมจ่าย ช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง และช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้า แผงลอยหาบเร่ให้ได้มีลูกค้า

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน โพสต์ข้อความในหัวข้อ “รู้หรือไม่ คนละครึ่ง คือความคิดริเริ่มของท่านนายกฯ” ระบุว่า “หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ประกาศโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 ออกไปแล้ว ได้รับความสนใจมากครับ จากร้านค้าและประชาชนที่ยังไม่ได้รับสิทธิในเฟสแรก ท่านที่ยังไม่ได้รับสิทธิในเฟสแรก ลงทะเบียนรับสิทธิคนละ 3,500 บาท ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคมนี้ ทุกคนที่มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป ขอรับสิทธิได้หมด จนกว่าจะครบ 5 ล้านสิทธิ งานนี้ใครมาก่อนได้ก่อนครับ

สำหรับคนที่ได้สิทธิเฟสแรกไปแล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ แต่ต้องเข้าไปกดปุ่มยืนยันสิทธิที่แอปฯ เป๋าตัง และจะได้รับเงินเพิ่มอีก 500 บาท พร้อมทั้งขยายเวลาการใช้จ่ายไปจนถึง 31 มีนาคม ปีหน้า (2564) แต่อย่าลืมว่าคนที่เข้าร่วมคนละครึ่ง จะไม่ได้สิทธิลดหย่อนภาษี 30,000 บาท ของโครงการช้อปดีมีคืนนะครับ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะทั้ง 2 โครงการมีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน ช้อปดีมีคืน ต้องการช่วยคนที่มีงานทำ มีเงินเดือน อยู่ในระบบภาษี และผู้ประกอบการที่จดทะเบียนการค้า ให้ขายสินค้าได้มากขึ้นในช่วงปลายปี

ส่วน คนละครึ่ง เป็นดำริของท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) แต่แรกเริ่ม ให้ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบเรื่องรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 ในลักษณะ Co-pay หรือร่วมจ่าย เช่น คนที่เคยมีเงินเดือน 10,000-20,000 บาท ซึ่งอาจถูกลดเงินเดือนหรือชั่วโมงทำงาน รัฐบาลจะช่วยออกค่าใช้จ่ายประจำวันให้ครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อวัน ตัวเลข 150 บาทนี้ มาจากค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ครึ่งหนึ่งคือ 150 บาท

ท่านนายกฯ ยังสั่งการให้ช่วยเหลือพ่อค้า แม่ค้า รถเข็น แผงลอย หาบเร่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขายหาเช้ากินค่ำ ให้ได้มีลูกค้า ได้เกิดการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งกระตุ้นการบริโภคให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

โครงการคนละครึ่ง เหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 3 ตัว คือ ได้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน 10 ล้านคน ตอนนี้จะขยายเป็น 15 ล้านคน, ได้ช่วยพ่อค้า-แม่ค้ารายย่อย ร้านค้าเล็กๆ 540,000 กว่ารายที่เข้าร่วมโครงการแล้ว และที่กำลังรอการตรวจสอบอีก เกือบ 160,000 ราย นอกจากนี้ ยังช่วยให้มีเม็ดเงินกระจายลงไปสู่ระดับฐานรากของเศรษฐกิจมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมาด้วย”