“อโรคยาศาล”ปรางค์กู่ จังหวัดชัยภูมิ..โรงพยาบาลแห่งยุคอาณาจักรขอม

ไปเที่ยวจังหวัดชัยภูมิเมื่อไหร่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องไปเยี่ยมชมและถ่ายรูปภาพปรางค์กู่ ซึ่งเป็นอีกโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนี้ เคยสงสัยอยู่นานว่าอดีตพระปรางค์กู่จะเป็นสถานที่ทำอะไรหนอ เพราะดูไม่ค่อยเหมือนศาสนสถานสักเท่าไหร่

แล้วเมื่อไม่นานมานี้เองก็ได้ทราบคำตอบว่าปางกู่คือ “อโรคยาศาล”..อ้าวแล้ว อโรคยาศาล มันคืออิหยังหว่า?🤔

“เมื่อประชาชนมีโรคถึงความหายนะ ตามภาวะแห่งกรรมด้วยการสิ้นไปแห่งอายุเพราะบุญพระองค์ผู้เป็นราชา ได้กระทำโคที่สมบูรณ์ทั้งสาม เพื่อประกาศยุคอันประเสริฐ”

ข้อความข้างต้นนี้ เป็นข้อความส่วนหนึ่งของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เพื่อบอกถึงความมุ่งหมายในการสร้างสถานพยาบาล หรือ ที่เรียกว่า “อโรคยาศาล” (คำๆ นี้ปรากฏอยู่ในจารึกบรรทัดที่ ๗ ด้านที่ ๒ ของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปแบบและภารกิจของอโรคยาศาลที่ได้ระบุไว้ในจารึกนั้น ก็เทียบได้กับ “โรงพยาบาล” ในปัจจุบันนั่นเอง

จารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เท่าที่พบในประเทศไทย ณ ตอนนี้ มีทั้งหมด ๖ หลักทั้งนี้ข้อมูลกี่ยวกับจารึกดังกล่าว ได้รับการรวบรวมและเผยแพร่ทั้งในรูปสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่นในหนังสือจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๘) และหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม๔ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๙) ตลอดจน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ที่จัดทำโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) การที่ได้จัดกลุ่มจารึกเหล่านี้เป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากเนื้อหาที่จารึกนั้นมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันมาก จะต่างกันบ้างก็แต่จำนวนบุคคลและสิ่งของที่ระบุในจารึก อีกทั้งจารึกทุกหลักได้ระบุอย่างชัดเจนถึงพระนามของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง คือ ศรีชัยวรมัน ว่าเป็นพระโอรสของพระเจ้าธรณีนทรวรมันที่ ๒ ดังนั้น พระนาม “ศรีชัยวรมัน” ในที่นี้ ก็น่าจะหมายถึงพระเจ้าชัยวมันที่ ๗ ซึ่งครองราชย์ในช่วง พ.ศ. ๑๗๒๔ – ๑๗๖๑

“อโรคยาศาล” หรือ “โรงพยาบาล” ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ประกอบด้วยปรางค์ประธาน มีอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัยสร้างด้วยศิลาแลง หันหน้าเข้าสู่ตัวปราสาทประธาน ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ตำแหน่งของบรรณาลัย มักจะอยู่ค่อนไปที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เสมอ มีซุ้มประตูทางเข้าที่เรียกว่า โคปุระ ทางด้านหน้า เพียงแห่งเดียว ตั้งอยู่ใกล้ๆ จุดกึ่งกลางของกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก บริเวณด้านนอกกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือที่เรียกว่า บาราย หรือสระน้ำศักดิ์สิทธิ์กรุด้วยศิลาแลง

อโรคยาศาล เป็นสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นตามรายทางโบราณของอาณาจักรขอมสมัยพระ นครจะเชื่อมกับปราสาทนครธม และปราสาทหินอื่นๆ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้แผ่พระราชอำนาจไปถึงและสร้างปราสาทหินเอาไว้

“โรงพยาบาล” ในจารึกคำอ่าน – คำแปลของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทั้งหมด๖ หลัก ได้แก่ จารึกพบที่ จารึกสุรินทร์ ๒ (สร. ๖) จารึกพบที่จังหวัดนครราชสีมา ๑ หลัก คือ จารึกเมืองพิมาย (นม. ๑๗) จารึกพบที่จังหวัดบุรีรัมย์ ๑ หลัก คือ จารึกด่านประคำ (บร. ๒) และจารึกพบที่จังหวัดชัยภูมิ ๑ หลัก คือจารึกวัดกู่บ้านหนองบัว (ชย. ๖) เมื่อได้พิจารณาและเปรียบเทียบในส่วนของเนื้อหาแล้วพบว่า ทุกหลักมีเนื้อหาและการเรียงลำดับข้อมูลเหมือนกัน กล่าวคือ จารึกด้านที่ ๑ จะขึ้นต้นด้วยการกล่าวนมัสการเทพประจำโรงพยาบาล ตามด้วยสรรเสริญพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และพระเทวี พร้อมกล่าวถึง

มูลเหตุที่สร้าง “โรงพยาบาล” จารึกด้านที่ ๒ กล่าวถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลตลอดจนหน้าที่ของแต่ละคน จารึกด้านที่ ๓ กล่าวถึงจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้อุทิศไว้เพื่อใช้ในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง และจารึกด้านที่ ๔ กล่าวสรรเสริญและอำนวยพรแก่พระราชาผู้ได้กระทำกุศล อีกทั้งประกาศข้อห้ามต่างๆ ในโรงพยาบาล ข้อแตกต่างของจารึกแต่ละหลักมีเพียงส่วนของจำนวนเจ้าหน้าที่ และจำนวนสิ่งของที่ได้รับมา

จากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อตัดข้อแตกต่างปลีกย่อยเหล่านี้ไป ก็พบว่าเนื้อหาจารึกโดยรวมนั้น ได้ระบุถึงส่วนประกอบสำคัญที่ประกอบกันขึ้นเป็น “โรงพยาบาล”

ผู้ประกอบพิธีทางการพยาบาลในโรคยาศาล อันมีอยู่ ๓ ส่วน ด้วยกัน ได้แก่ – เทพประจำโรงพยาบาล – เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาล – สิ่งของเครื่องใช้ประกอบการรักษาพยาบาล

เทพประจำโรงพยาบาล เทพประจำโรงพยาบาล มี ๓ องค์ด้วยกัน ได้แก่ พระไภสัชครุไวทูรย์ (พระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต) หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระชินะ ถือเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งผู้ประสาท “ความไม่มีโรค” แก่ประชาชน เทพอีกสององค์เป็นพระชิโนรส ได้แก่ พระศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ และ พระศรีจันทรไวโรจนโรหินีศะ ผู้ขจัดซึ่งโรคของประชาชน เจ้าหน้าที่ประจำอโรคยาศาล

เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาล มีหลายตำแหน่ง แต่ละตำแหน่งมีจำนวนบุคคลไม่เท่ากันในแต่ละโรงพยาบาล ในที่นี้จึงขอแสดงจำนวนไว้คร่าวๆ ดังนี้ (๑) แพทย์ จำนวน ๒ คน (๒) เจ้าหน้าที่ (ชาย) ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของโรงพยาบาล ธุรการ หาข้าวเปลือก หาฟืนและจ่ายยา จำนวน ๒ คน (๓) เจ้าหน้าที่ (ชาย) ทำหน้าที่จัดพลีทาน ทำบัตร จ่ายสลากยา หาฟืนเพื่อต้มยาจำนวน ๒ คน (๔) เจ้าหน้าที่ (ชาย) ทำหน้าที่หุงต้ม ดูแลรักษาและจ่ายน้ำ หาดอกไม้และหญ้าบูชายัญตลอดจนทำความสะอาดเทวสถาน จำนวน ๑ ถึง ๒ คน (๕) เจ้าหน้าที่ (ชาย) ทำหน้าที่ดูแลรักษาโรงพยาบาล และส่งยาแก่แพทย์ จำนวน ๑๔ คน (๖) เจ้าหน้าที่ (คละกันหญิงชาย) ทำหน้าที่ให้สถิติ จำนวน ๒ ถึง ๓ คน

(๗) เจ้าหน้าที่ (คละกันหญิงชาย) ทำหน้าที่ดูแลทั่วไป จำนวน ๔ คน (๘) เจ้าหน้าที่ (หญิง) ทำโม่ยา จำนวน ๒ ถึง ๖ คน (๙) เจ้าหน้าที่ (หญิง) ทำหน้าที่ตำข้าว จำนวน ๒ คน (๑๐) เจ้าหน้าที่ (คละกันหญิงชาย) ทำหน้าที่ประกอบพิธีบูชายัญ จำนวน ๒ คน (๑๑) โหราจารย์ จำนวน ๑ คน

ยังมีตำแหน่งผู้ดูแล, ธุรการ และผู้ให้สถิติอีกหลายคน ซึ่งระบุจำนวนไว้ไม่แน่ชัด อย่างไรก็ตามจารึกปราสาท และจารึกสุรินทร์ ๒ ได้ระบุไว้ว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดในโรงพยาบาลมีถึง ๙๘ คน

สิ่งของเครื่องใช้ประกอบการรักษาพยาบาล

เช่นเดียวกับจำนวนเจ้าหน้าที่ รายการจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ได้รับมาไว้ใช้ในโรงพยาบาลนั้นมีจำนวนไม่เท่ากันในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง จำนวนที่กล่าวถึงในที่นี้จึงเป็นจำนวนที่พอจะทราบโดยประมาณ บางรายการไม่ได้ระบุจำนวนไว้ก็มี