“มะเร็ง” นับเป็นโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเผชิญ ยิ่งเป็น “มะเร็งในเด็ก” ยิ่งชวนให้พ่อแม่ ญาติ พี่น้องและเพื่อน ๆ ต่างทุกข์ใจที่ต้องเห็นเด็กตัวน้อยมาทนทรมานกับอาการของโรค และเนื่องในวันมะเร็งเด็กสากล เรามาทำความรู้จักกับโรคมะเร็งในเด็กว่า เกิดจากอะไร มีอาการเป็นอย่างไร รักษาได้ไหม
วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ จาก โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ในเครือ “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” เปิดเผยโดย แพทย์หญิงขวัญนุช ศรีกาลา กุมารแพทย์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี เกี่ยวกับอาการเหล่านี้ หากเกิดขึ้นกับบุตรหลานของท่าน เพื่อการตรวจรักษาที่ทันท่วงที เพิ่มโอกาสในการรักษาหายมากขึ้น
สาเหตุของโรคมะเร็งในเด็ก
โรคมะเร็งในเด็ก เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา จนถึงเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี มักเกิดจากจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่กำลังเจริญเติบโต แต่มีปัจจัยร่วม หรือ ปัจจัยเสริม เช่น อาจเป็นสิ่งแวดล้อม การติดเชื้อ ยาฆ่าแมลง สารพิษที่ปนเปื้อนในน้ำดื่ม การบริโภคของมารดาขณะตั้งครรภ์ และการที่เด็กได้รับรังสีบางชนิดในปริมาณสูง มักจะพบได้ 1 ใน 10 ของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ โดยมีมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากกว่าร้อยละ 50 รองลงมา คือ มะเร็งสมอง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งต่อมหมวกไต ซึ่งมะเร็งในเด็กนั้นนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของเด็กและวัยรุ่น
โรคมะเร็งในเด็กแบ่งเป็น 4 ระยะ
อาการแสดงของมะเร็งแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน เช่น มีไข้ ซีด เลือดออกผิดปกติ มีก้อน ซึมลง ชัด อ่อนแรง ซึ่งอาการก็มักจะเหมือนความเจ็บป่วยทั่ว ๆ ไป แต่มักจะมีลักษณะเฉพาะบางอย่าง ต้องอาศัยการตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย ซึ่งระยะของโรคมะเร็งในเด็กแต่ละชนิดมีรายละเอียดแตกต่างกันไป โดยทั่วไป สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
อาการเบื้องต้นที่พบบ่อย
สำหรับอาการเบื้องต้นที่มักพบได้บ่อยคือ คลำได้ก้อนที่ไม่เจ็บ ที่บริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบอ่อนเพลีย วิงเวียน เหงื่ออกช่วงกลางคืน กระสับกระส่าย ปวดหลัง ปวดขา ปวดข้อ ปวดศีรษะ มึนงง ฟกช้ำง่าย หรือมีเลือดออกง่าย ต่อมน้ำเหลืองโต ท้องอืดโต มีไข้โดยไม่มีสาเหตุอื่น ตับหรือม้ามโต เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เลือดออกตามไรฟัน หรือมีจุดแตงตามผิวหัง ร่างกายอ่อนแอมีภาวะติดเชื้อบ่อย
โรคมะเร็งในเด็กที่พบได้บ่อย
มีทั้งมะเร็งชนิดเดียวกับผู้ใหญ่และชนิดที่ต่างจากผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากชนิดของมะเร็งเกือบทั้งหมดจะเป็นชนิดที่แตกต่างจากในผู้ใหญ่ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งพบมากกว่าร้อยละ 50 ของมะเร็งทั้งหมด โรคมะเร็งสมอง โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งต่อมหมวกไต อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมาการรักษามะเร็งในเด็กในประเทศไทยดีขึ้นมาก ผลการรักษาค่อนข้างดีใกล้เคียงกับต่างประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันนั้นประเทศไทยก็มีประสิทธิภาพดีกว่า
โรคมีความรุนแรงสูง แต่สามารถรักษาหายได้
โรคมะเร็งในเด็กสามารถรักษาด้วยวิธีเดียวกับการรักษาโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ คือ การผ่าตัด ให้ยาเคมีบำบัด การเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก และการฉายแสง แต่การที่แพทย์จะเลือกวิธีการใดนั้น ขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง การตอบสนองต่อเคมีบำบัด ชนิดของโรคมะเร็ง อวัยวะที่เป็นมะเร็ง อายุของเด็ก และสุขภาพร่างกายของเด็ก ซึ่งโรคมะเร็งในเด็กมักจะมีความรุนแรงสูง แต่ก็สามารถรักษาหายได้
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงก่อมะเร็ง
การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็ง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ หรือสารก่อมะเร็ง จากอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว โดยเฉพาะคุณแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น อาหารสำเร็จรูป บุหรี่ และแอลกอฮอล์ และคอยหมั่นสังเกตเด็กหากพบความผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที
ถึงแม้เราจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งในเด็ก แต่หากตรวจพบเร็วก็จะช่วยให้มีโอกาสรอดชีวิต ได้กลับไปสู่อ้อมอกครอบครัวตามเดิม ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลลูก พาไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ รวมถึงอยู่ให้ห่างจากปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายข้างต้น หากพบว่าบุตรหลานมีอาการเสี่ยงควรพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตามขั้นตอน หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอื่น ๆ สามารถขอคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัดได้ทั้ง 11 แห่งใน 10 จังหวัดได้แก่โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาล พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร จังหวัดพิจิตร โรงพยาบาล ศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ และ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และสามารถติดตามสาระดี ๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก : Principal Healthcare Company