หลังจากการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ผ่านไป แนวทาง “แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” ที่เฝ้ารอกันมานานก็เริ่มคืบหน้าอีกครั้ง เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบกับแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 162 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางของ ขสมก.จำนวน 108 เส้นทาง เส้นทางของเอกชน อีก 54 เส้นทาง เพื่อพัฒนาโครงข่ายเส้นทางรองรับการขยายตัวของเมือง และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นตามความจำเป็นต่อไปในอนาคต
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเพิ่มเติมถึงเรื่องนี้ว่า แผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หรือ “แผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์” จำนวน 162 เส้นทางนั้น กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาพร้อมแผนฟื้นฟู ขสมก. โดยนอกจากแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถฯ แล้ว มติที่ประชุม คจร. ได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับราคาค่าโดยสาร 30 บาท/วัน และให้คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง เป็นผู้รับผิดชอบพิจารณากำหนดราคาค่าโดยสารให้เหมาะสมกับทุกกลุ่ม เนื่องจากมีความเห็นเกี่ยวกับผู้มีรายได้น้อยซึ่งเคยเสียค่าโดยสารน้อยกว่า 30 บาท โดยเบื้องต้น กำหนดตั๋วเที่ยวเดียว ราคา 15 บาท ซึ่งคิดราคาบนพื้นฐานอัตราค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศตามระยะทางในปัจจุบันที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2561 โดยราคาค่าโดยสารขั้นต่ำสุดสำหรับรถปรับอากาศ (ใหม่) ระยะทาง 0-4 กม. ราคา 15 บาท ทั้งนี้มีการเน้นย้ำว่าต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ
ก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดเผย “แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” ซึ่งมีการปรับแผนจากการซื้อรถเมล์ใหม่ จำนวน 2,511 คัน เปลี่ยนเป็นการจัดเช่ารถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าแทน และเมื่อรวมเข้ากับรถโดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) อีก 489 คัน จะมีรถเมล์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรวม 3,000 คัน และในจำนวนนี้จะมีการจ้างเอกชนบริหารจัดการเดินรถราว 1,500 คัน เพื่อวิ่งในเส้นทางเดินรถที่มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางตามที่กรมการขนส่งทางบกแบ่งใหม่ เป็นของ ขสมก. 108 เส้นทาง และของเอกชนอีก 54 เส้นทาง รวมระยะเวลา 7 ปี ซึ่งจะเป็นการจ่ายค่าจ้างตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง ในอัตราที่ ขสมก. กำหนดไว้เบื้องต้นคือ 34.27 บาทต่อกิโลเมตร โดยเอกชนจะต้องนำรถโดยสารใหม่ที่เป็นระบบรถไฟฟ้า ติดตั้งระบบ E-Ticket, GPS, WiFi ออกวิ่งเฉลี่ย 240 กิโลเมตรต่อคันต่อวัน
ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” กล่าวถึงความคืบหน้าว่า “แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” นั้น ขณะนี้ไม่ได้ติดอยู่ที่สภาพัฒน์และกระทรวงคมนาคมไม่จำเป็นต้องนำแผนฟื้นฟูฯ มาให้สภาพัฒน์พิจารณาก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่สิ่งที่กระทรวงคมนาคมต้องเสนอให้สภาพัฒน์พิจารณา คือ แผนการลงทุนในการจัดหารถโดยสารประจำทางใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ถือเป็นกระบวนการปกติของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหากต้องจัดซื้อจัดจ้างต้องส่งมาให้สภาพัฒน์พิจารณาด้วย
สรุปหลักใหญ่ใจความของ “แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” ถ้าผ่าน ครม. เมื่อไหร่ ก็จะได้เห็นกันแน่ๆ คือ ประชาชนได้ใช้รถเมล์ใหม่ระบบพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเอกชนที่เช่าวิ่งตามระยะทางจะต้องบำรุงรักษาเองไม่เป็นภาระของ ขสมก. ในการซ่อมบำรุง พร้อมๆ กับ “แผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์” ลดการวิ่งในเส้นทางที่ซ้ำซ้อน และท้ายสุดคือค่าบริการแบบเหมาจ่าย 30 บาทตลอดวัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว และตั๋วแบบเที่ยวเดียวราคา 15 บาท
แทบไม่ต้องถามกันเลยว่า มีใครบ้างจะไม่อยากให้ “แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” ผ่าน ครม. และได้เริ่มเสียที เพราะก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะทำโพลล์สำรวจกันกี่ครั้งก็พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจต่อรถเมล์ที่ใช้กันอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยมาก ทั้งรอนาน จำนวนรถน้อย รถสภาพเก่าทรุดโทรม และยังมีรถควันดำเป็นมลพิษด้วย ดังนั้นรถเมล์ใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตรงเวลา ราคาค่าโดยสารเหมาะสม จึงเป็นทางเลือกที่คนส่วนใหญ่รอลุ้นให้เกิดมีในบ้านนี้เมืองนี้ รับ “ชีวิตวิถีใหม่” เรียกว่ายิ่งมาเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งได้ใจประชาชนผู้ใช้รถไปเต็มๆ