ชูกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ ต้นแบบอำเภอขับเคลื่อนการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ

สสส.-กพย. ชู กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นต้นแบบอำเภอขับเคลื่อนการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพเหมาะสม-ปลอดภัย ลุยแก้เครื่องสำอางค์-ยาอันตรายในชุมชน-ปัญหายาชายแดนสำเร็จ

คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. พร้อมด้วยนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ลงพื้นที่ศึกษาดูงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและระบบยา : อำเภอเชียงของ ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย พบการดำเนินงานเข้มแข็งและสอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของ สสส. พร้อมหนุน “กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ” สู่การขับเคลื่อนอำเภอต้นแบบการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างสมเหตุผลและปลอดภัย

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตราย และการใช้ที่ไม่เหมาะสมจากการได้ข้อมูลและความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของผู้บริโภค เป็นปัญหาที่นำไปสู่การผลกระทบต่อสุขภาพและสูญเสียค่าใช้จ่ายของประชาชน สสส. จึงมียุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถและมีระบบและสังคมช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาชนให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรการควบคุมเฝ้าระวังสินค้าและบริการที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน เช่น ปัญหาจากสารเคมีในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อีกทั้งได้ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สร้างความเข้มแข็งของกลไกเฝ้าระวังระบบยาในระดับพื้นที่และระดับภาค สร้างและจัดการความรู้เพื่อการเฝ้าระวัง เตือนภัยสังคม เพื่อลดอันตรายจากความเสี่ยงดังกล่าว

“จากข้อมูลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือยาที่ไม่เหมาะสมจากต่างประเทศ (ยาชายแดน) ในพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2562 โดยกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ พบว่า ยาที่มีการจำหน่ายมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Dexamethasone Prednisolone) 2.ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ 3.สเตียรอยด์ครีมสำหรับเป็นเครื่องสำอางค์ 4.สเตียรอยด์ครีมสำหรับใช้ทั่วไป และ 5.ยาสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ ปัจจัยที่ซื้อบริโภค แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1. กลุ่มผู้สูงอายุและใช้แรงงานใช้ยาสเตียรอยด์แก้ปวดเพื่อให้สามารถทำงานต่อได้ 2. กลุ่มวัยรุ่นใช้ยาครีมสเตียรอยด์ทาเพื่อให้ผิวขาว และ 3. กลุ่มประชาชนทั่วไปใช้ยาครีมสเตียรอยด์ในการแก้แพ้ แก้คัน จากกลไกการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือยาที่ไม่เหมาะสมจากต่างประเทศ (ยาชายแดน) ของกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ ทำให้ผลิตภัณฑ์ยาต้นเหตุที่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพในพื้นที่เชียงของ ลดลงจากร้อยละ 100 ใน พ.ศ. 2557 เหลือร้อยละ 20 ใน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่เข้มแข็งสอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของ สสส. จึงขอยกระดับกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ สู่การเป็น “อำเภอต้นแบบการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างสมเหตุผลและปลอดภัย” นายชาติวุฒิ กล่าว

ภก.อิ่นแก้ว สิงห์แก้ว เภสัชกรชำนาญการกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ กล่าวว่า ปัญหาการใช้ยาสเตียรอยด์อาจส่งผลให้เกิดผู้ป่วยโรคไต และเสียชีวิตจากอาการไตวายเฉียบพลัน จากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของผู้ป่วย ของกลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ พบว่า มีผลิตภัณฑ์ยาที่มีฉลากที่ไม่ใช่ภาษาไทยและยาแก้ปวดกลุ่มสเตียรอยด์ที่บ้านผู้ป่วยหลายราย และเมื่อลงพื้นที่สำรวจและพูดคุยกับคนผู้ขายในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อำเภอเวียงแก่น พบว่า ยาส่วนหนึ่งนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในตลาดนัดชายแดน ตลาดนัดพื้นที่ใกล้เคียง และกระจายวงกว้างไปยังจังหวัดอื่น ๆ รวมถึงในกรุงเทพฯ ผ่านรถประจำทาง ขนส่งเอกชนและทางพัสดุไปรษณีย์

“การดำเนินการคุ้มครองสุขภาพประชาชนและแก้ไขปัญหาการใช้ยาสเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมในชุมชน มีวิธีการทำงานแบบคู่ขนาน คือ การให้ความรู้ในชุมชนควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยประสานงานกับเจ้าของตลาดและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าในตลาดรับทราบถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้ในโรงเรียนผู้สูงอายุ และร่วมกับ อสม. เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสมในชุมชน สำรวจร้านชำ รวมถึงการ MOU ร่วมกับหน่วยงานทางปกครอง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ด่าน อย. เชียงของ ด่านควบคุมโรคเชียงของ รพ.สต. และประเทศเพื่อนบ้าน ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ข้ามแดนระหว่าง 2 พื้นที่ ไทย-ลาว เพื่อป้องกันควบคุมการลักลอบนำเข้าและการจำหน่ายในพื้นที่ ซึ่งทาง สสส. จัดเวทีให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนงานวิชาการต่าง ๆ ผ่านทางศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) อย่างต่อเนื่อง ทำให้การเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือยาที่ไม่เหมาะสมจากต่างประเทศ (ยาชายแดน) มีการขยายพื้นที่การทำงานไปได้มากขึ้น จากเดิมที่เริ่มต้นในสามพื้นที่ ปัจจุบันได้ขยายไปครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย” ภก.อิ่นแก้ว กล่าว

ด้าน นายธนชัย ฟูเฟื่อง สมาคมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า สมาคมฯ ดำเนินงานด้านคุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภค สสส.ได้ร่วมสนับสนุนการยกระดับความเข้มแข็งให้เป็นองค์กรผู้บริโภคที่มีคุณภาพ ผ่านกลไกสนับสนุนในภาคเหนือ ทำหน้าที่เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้คำปรึกษาให้ความรู้กับประชาชน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเยียวยา รวมถึงดำเนินงานเชิงรุกร่วมกับ กพย. ทำให้ได้รับการพัฒนาความรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยาอันตราย บทบาทการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในพื้นที่ เฝ้าระวังโฆษณาทางวิทยุ รวมถึงการทำงานร่วมกับเภสัชด้านคุ้มครองผู้บริโภค ที่ กพย. ได้ช่วยในการให้มีกระบวนการดำเนินงานร่วมกัน ถือเป็นการเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทุกมิติ