สถานทูตไทย ณ กรุงอังการา เปิดตัว “SBACNATS” ฝอยทอง สแบคแนทส์ ดีไลท์ (Foi Thong Sbacnats Delight) ขนมลูกครึ่งไทย – ตุรกี ส่งเสริมความผูกพันระหว่างสองประเทศ ฉลองวาระสงกรานต์ปีใหม่ไทย
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ร่วมกับ คณะบริหารการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยบิลเคนท์ (Bilkent University) จัดกิจกรรมสาธิตการทำอาหารและขนมมงคลไทย “The Joy of Thai Cooking” ขึ้น เพื่อเป็นการฉลองวาระสงกรานต์ ปีใหม่ไทย ณ มหาวิทยาลัยบิลเคนท์ กรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี
“ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล” อุปทูต ณ กรุงอังการา เปิดเผยถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทย และขนมมงคลไทย รวมถึงเทศกาลสงกรานต์และวันปีใหม่ไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในตุรกี โดยได้พยายามคัดสรรอาหารที่สามารถหาซื้อวัตถุดิบไทยได้ในตุรกี เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ไทยด้วย ทั้งนี้ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยบิลเคนท์ สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทำให้สามารถถ่ายทอด และแบ่งปันความสุขแห่งการทำอาหารไทยให้กับนิสิต นักศึกษา และสาธารณชนตุรกีอย่างแพร่หลาย โดยกิจกรรมครั้งนี้ คู่สมรสข้าราชการ และข้าราชการสตรีของสถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกันสาธิตการทำอาหารไทย ได้แก่ ต้มยำกุ้ง ผัดไทย และขนมมงคลไทย ได้แก่ ขนมชั้น ทองเอก และฝอยทอง ให้แก่อาจารย์และนิสิต นักศึกษาของคณะบริหารการท่องเที่ยวและการโรงแรม ของมหาวิทยาลัยฯ
ความพิเศษครั้งนี้คือการเปิดตัว ฝอยทอง สแบคแนทส์ ดีไลท์ หรือ Foi Thong Sbacnats Delight ขนมหวานสุดพิเศษซึ่งเป็นการคิดค้นร่วมกันของข้าราชการของสถานเอกอัครราชทูตฯ และคู่สมรส ในการนำฝอยทอง อันเป็นขนมไทย มาผสมกับถั่วพิสตาชิโอ อันเป็นส่วนผสมของของหวานตุรกีที่พบหาได้ทั่วไป โดยการคิดค้นดังกล่าว นอกจากจะสะท้อนถึงการผสมผสานส่วนประกอบที่ลงตัวของขนมไทยกับวัตถุดิบตุรกีแล้ว ยังตั้งใจจะให้สื่อความหมายถึงมิตรภาพ ความรัก และความผูกพันที่จะมั่นคงและยืนยาวของประเทศทั้งสอง เหมือนเส้นของฝอยทอง และนำขนมดังกล่าวนำเสนอเป็นครั้งแรกในกิจกรรมนี้
ชาครีย์นรทิพย์ฯ เล่าต่อว่า “พวกเราทั้ง 8 คนตื่นเต้น ดีใจ และภูมิใจกับ ฝอยทอง สแบคแนทส์ ดีไลท์ เป็นอย่างมาก ผมและเพื่อนร่วมงานที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ตระหนักมาโดยตลอดว่า ไทยกับตุรกียังมีอะไรที่เชื่อมโยงสังคมทั้งสองไม่มากนัก และพวกเราก็พยายามคิดค้นหาสิ่งใหม่ ๆ หรือแนวทางการเสริมสร้างความเชื่อมโยงใหม่ ๆ อยู่เสมอสำหรับความคิดเรื่องเมนูขนมลูกครึ่งไทย – ตุรกี นี้ เกิดขึ้น เมื่อพวกเราไปซักซ้อมการทำอาหารและขนมไทยในห้องครัวที่บ้านของผม เพื่อเตรียมตัวสำหรับกิจกรรม ‘The Joy of Thai Cooking’ นี้”
อุปทูต ณ กรุงอังการา ยังเล่าอีกว่า “ช่วงระหว่างเตรียมงาน กิจกรรม ‘The Joy of Thai Cooking’ มีนักการทูตรุ่นน้องสองคน เพิ่งกลับจากการเดินทางไปเที่ยวที่เมืองกาซิแอนเทป (Gaziantep) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางตอนใต้ของตุรกี ติดกับชายแดนซีเรีย และได้รับการขนานนามว่า “เมืองหลวงด้านอาหารของตุรกี” เนื่องจากเป็นศูนย์กลางด้านอาหารและของหวานที่ขึ้นชื่อเป็นอย่างมาก โดยพวกเราหลาย
คนก็เคยไปเยือนเมืองกาซิแอนเทปแล้วเช่นกัน ขณะที่ผู้ยังไม่เคยไป ก็ล้วนเคยได้ยินกิตติศัพท์ของเมืองนั้น ในการเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร และสิ่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อมาก คือ บัคลาวา (baklava) ชนิดต่างๆ และส่วนประกอบที่พบเห็นได้ทั่วไปของบัคลาวา ก็คือ ถั่วพิสตาชิโอ พวกเราจึงเกิดความคิดขึ้นว่า น่าจะลองนำถั่วพิสตาชิโอ มาผสมกับขนมไทย ซึ่งในตอนนั้นอยู่ระหว่างกำลังซ้อมทำฝอยทองพอดี จึงลองผสมดู แล้วปรากฏว่า เป็นการผสมผสานที่ลงตัวอย่างมาก พวกเราก็พากันกระโดดโลดเต้นด้วยความยินดี เพราะเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ แต่ก็ยังคงรสชาติที่คุ้นเคยของขนมไทยและขนมตุรกีซึ่งพวกเราล้วนหวังว่า จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงและทำให้ประชาชนของประเทศทั้งสองใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น”
ส่วนที่มาของชื่อ “ฝอยทอง สแบคแนทส์ ดีไลท์” (Foi Thong Sbacnats Delight) ขนมลูกครึ่งไทย-ตุรกี นั้น ชาครีย์นรทิพย์ฯ อธิบายว่า ชื่อขนมอาจจะยังไม่คุ้นหู เพราะเป็นสิ่งใหม่ แต่ก็ซ่อนไว้ด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง โดยถอดรหัสของ “SBACNATS” ได้ดังนี้
S ตัวแรก แทนคำว่า Special คือ ความพิเศษ เพราะเป็นของหวานที่ทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันพิเศษระหว่างไทย ตุรกี
B แทนคำว่า Bold คือ ความกล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ และหาแนวทางใหม่ๆ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
A ตัวถัดมา แทนคำว่า Ankara กรุงอังการา อันเป็นสถานที่ซึ่งคิดค้นเมนูนี้ขึ้นมา
C แทนคำว่า Cooperation คือ ความร่วมมือ อันเป็นส่วนสำคัญที่
ทำให้ประสบความสำเร็จในการคิดค้นเมนูนี้
N แทนคำว่า New คือ ความแปลกใหม่
A ตัวที่สอง แทนคำว่า Aspire คือ ความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะส่งเสริมและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและตุรกี
และ TS สะท้อนถึงการมี T สองตัว คือ ประเทศไทย Thailand และตุรกี Turkey
“การนำเสนอ ฝอยทอง สแบคแนทส์ ดีไลท์ ในกิจกรรม ‘The Joy of Thai Cooking’ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนิสิต นักศึกษา และอาจารย์ ของคณะฯ โดยทุกคนเห็นว่า เป็นการผสมผสานของขนมไทยและวัตถุดิบตุรกีที่ลงตัวเป็นอย่างมาก” ชาครีย์นรทิพย์ฯ กล่าวปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัย Bilkent เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของตุรกี และคณะบริหารการท่องเที่ยวและการโรงแรม ของมหาวิทยาลัยฯ มีความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตฯ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การนำอาจารย์และนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมแกะสลักผักและผลไม้ไทย การจัดการสาธิตการทำอาหารไทยและเทศกาลอาหารไทย รวมถึงการเชิญเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา เป็นวิทยากรในการสัมมนาวิชาการ ของคณะฯ ด้วย
ด้าน นักการทูตและคู่สมรสของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ในปัจจุบัน ผู้อยู่เบื้องหลัง “ฝอยทอง สแบคแนทส์ ดีไลท์” ได้แก่ นายชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล อุปทูต /นางบังอร เสวิกุล ภรรยาของนายชาครีย์นรทิพย์ฯ / นางสาวณัฏฐมน ปั่นโพชา เลขานุการเอก / นายธีรวัฒน์ ว่องแก้ว เลขานุการเอก / นางสาวสุชญา ตันเจริญผล ภรรยาของนายธีรวัฒน์ฯ / นางสาวอนีสสา นาคเสวี เลขานุการโท / นางสาวอมรรัตน์ คงชู เลขานุการโท และนายสมภพ เกิดมี คู่สมรสนางสาวอมรรัตน์ฯ