หมอโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีน เผย เด็กติดเชื้อโควิด-19 จากคนในครอบครัวมากที่สุด ย้ำ ผู้ปกครอง ต้องฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกัน ลดพฤติกรรมเสี่ยงติด-แพร่เชื้อ สสส. แนะ ผู้ประกอบการวางมาตรการ Work From Home ทำสวัสดิการคุ้มครองสุขภาพพนักงาน ตัดวงจรระบาดโควิด-19 ในเด็กและครอบครัว
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิต ทักษะ และสุขภาพของเด็ก ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ การระบาดระลอกนี้พบเด็กเล็กและเด็กโตติดเชื้อจากคนในครอบครัวจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เพราะบางอาชีพไม่สามารถใช้มาตรการ Work From Home ได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนแนวทางการบริหารจัดการองค์กรในอนาคตว่า จำเป็นต้องปรับทิศทางการทำงานของพนักงานให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหรือคนในครอบครัวต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางสุขภาพในชีวิตจากวงจรระบาดโควิด-19 จากพฤติกรรมเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้ในลักษณะนี้
นางสาวณัฐยา กล่าวต่อว่า การป้องกันไม่ให้ผู้ปกครองนำเชื้อโควิด-19 กลับบ้านมาสู่เด็กและคนในครอบครัว ในทางปฏิบัติสามารถทำได้คือ บริษัทต้องวางกลยุทธ์บริหารจัดการให้พนักงานตำแหน่งต่าง ๆ ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรการ Work From Home ให้ได้มากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ส่วนอาชีพที่จำเป็นต้องเข้าที่ทำงานหรือออกนอกพื้นที่ บริษัทต้องเน้นย้ำให้พนักงานทุกคนสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกแบบจานเดียว และสื่อสารให้พนักงาน “ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก” กับวงจรระบาดที่เกิดขึ้น และหากมีสวัสดิการคัดกรองและการทำประกันโควิด-19 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางสร้างคุณภาพชีวิตให้พนักงานและคนในครอบครัว ขณะที่ผู้ปกครองที่กลับมาจากทำงานและไปในพื้นที่เสี่ยงจำเป็นต้องปฏิบัติตามแนว ทางที่ สสส. แนะนำ เช่น ล้างมือก่อนเข้าบ้านและอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีที่ถึงบ้าน รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นในบ้านก็นับเป็นความจำเป็นของชีวิตวิถีใหม่ด้วยเช่นกัน
ดร.พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันพบเด็กติดเชื้อโควิด-19 กระจายอยู่ทุกช่วงอายุ เป็นเด็กโต 84 % และเด็กเล็ก 16% ซึ่งกลุ่มเด็กที่ติดเชื้อมีทั้งเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคอ้วน และโรคปอด ซึ่งจะมีอาการติดเชื้อคล้ายกับผู้ใหญ่ และเด็กที่ไม่มีโรคประจำตัวแต่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยช่วงอายุเด็กที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด คือกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากร่างกายยังอยู่ในช่วงการสร้างภูมิคุ้มกันที่ยังไม่สมบูรณ์ ส่วนเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไปที่ติดเชื้อโควิด-19 แม้ร่างกายจะสมบูรณ์กว่าเด็กเล็ก แต่เมื่อรับเชื้อเข้าไปก็มีความเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตเช่นกัน หากอยู่ในกลุ่มเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือเข้ารับการรักษาช้าจนเชื้อลามลงไปที่ปอดจนทำภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ขณะที่ทางการแพทย์ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก โดยยังอยู่ระหว่างศึกษาวิจัย ส่วนผู้ใหญ่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง เพราะจะเป็นด่านแรกในการลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 กับเด็ก คนในครอบครัว และสังคม