สสส.-มธ. ทำคู่มือสนับสนุนจิตใจและจิตสังคม เด็กและครอบครัว ช่วงโควิด-19 ตัวช่วยนักสังคมสงเคราะห์เยียวยาชุมชน เพิ่มแกนนำผู้ป่วยโควิด-19 ให้คำปรึกษาลดตีตรากลับสู่สังคม ระบุเกิน 50% มีปัญหาเศรษฐกิจขาดรายได้
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พัฒนาแนวทางการดูแลช่วยเหลือทางสังคม โดยนักสังคมสงเคราะห์ โดยได้พัฒนาคู่มือการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม สำหรับเด็กและครอบครัวระดับชุมชนในภาวะการระบาดโควิด-19 เพื่อให้นักสังคมสงเคราะห์จิตอาสาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานกับเด็กๆ ในชุมชน และเด็กที่ครอบครัวมีสมาชิกป่วยโรคโควิด19 ทั้งนี้ สสส. มีแผนการขยายบริการของนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสาไปสู่หน่วยบริการปฐมภูมิ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมของบริการทั้งมิติการส่งเสริมป้องกัน และการช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่องในระดับชุมชน
“นักสังคมสงเคราะห์จิตอาสา จะทำหน้าที่ในการเป็นพี่เลี้ยง พัฒนาให้ผู้ป่วยโควิดที่รักษาหายแล้วที่มีจิตอาสา ลุกขึ้นมาเป็นอาสาสมัครให้คำปรึกษาลดการตีตรา ซึ่งกับกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ในโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และผู้ป่วยในโรงพยาบาลพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเราพบว่าการทำงานของแกนนำเหล่านี้ สามารถเข้าถึงและได้รับความไว้วางใจจากผู้ป่วยด้วยกันอย่างมาก สสส. เองพร้อมหนุนเสริมเพื่อยกระดับและขยายผลแกนนำเหล่านี้ในระยะต่อไป” พญ.ขจีรัตน์ กล่าว
ด้าน ดร.ขนิษฐา บูรณพันศักดิ์ หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า จากการขยายผลโครงการพัฒนาสมรรถนะ และรูปแบบการดูแลทางสังคม และเสริมพลังชุมชนในการเฝ้าระวังดูแลและจัดการสังคมสำหรับผู้ป่วย จะมีการจัดทำคู่มือการดูแลทางสังคมผู้ป่วยโควิดในชุมชน 1 เล่ม และคู่มือการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ในการดูแลทางสังคมผู้ป่วยโควิด-19 อีก 1 เล่ม ในเร็วๆ นี้
“สิ่งที่ทุกคนเจอคือ ความเครียด และวิตกกังวลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่แล้ว แต่มากกว่านั้นโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยน เมื่อป่วยด้วยโควิด-19 กลับไปบ้านเพื่อกักตัวต่อก็ยังกังวลสถานที่กักตัว กลัวจะนำไปติดคนที่บ้าน คนป่วย หรือลูกหลาน ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหามากกว่าร้อยละ 50 คนที่ป่วยจะเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นกำลังหลัก แต่ถูกให้ออกจากงาน ขาดรายได้ หรือประสบกับการทำมาหากินที่ยากลำบาก หรือบางคนถูกแยกจากคนที่รัก บางคนกลัวสูญเสียคนที่รัก ยิ่งคนที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูงอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีโรคประจำตัว พิการ เด็ก ก็จะมีปัญหาสุขภาพจิตตามมาด้วย ขณะนี้มีหลายเคสที่ชุมชนไม่รับกลับสังคม โดยเฉพาะที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียม ซึ่งทางทีมงานต้องเข้าไปช่วยดูแลสร้างความเข้าใจ” ดร.ขนิษฐากล่าว
ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลด คู่มือการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม สำหรับเด็กและครอบครัวระดับชุมชนในภาวะการระบาดโควิด-19 ได้ที่ https://www.thaihealth.or.th/Books/721/การสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและครอบครัวระดับชุมชนในภาวะการระบาดโควิด-19.html