สสส. หนุน วัดสุทธิวราราม ตั้ง ‘Temple Isolation’ เตรียม 120 เตียง รับผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว แนะ 5 ระบบ สร้างวัดต้นแบบดูแลผู้ติดเชื้อ พร้อมสร้างแกนนำ ‘พระไม่ทิ้งโยม’ ทำงานสุขภาวะฝ่าวิกฤตโควิด-19 เป็นที่พึ่งสังคม ชูแนวคิด “1 วัด 1 ตำบล” รองรับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนารักษาตัว ลดภาระ รพ.
พระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธเชิงสร้างสรรค์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีสถิติผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ล้นโรงพยาบาล ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา จึงได้ปรับโครงการโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรสุขภาวะวิถีพุทธเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย มาช่วยแก้ไขวิกฤตโควิด-19 ในกรุงเทพฯ โดยดำเนินการปรับศูนย์การเรียนรู้พระพุทธศาสนาและการพัฒนาสังคม อาคารขนาด 3 ชั้นของวัดสุทธิวราราม จัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 สำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 ถือเป็นการใช้มาตรการดูแลผู้ป่วยที่วัด (Temple Isolation) เพื่อรอนำส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยมีพระนักพัฒนาการสาธารณสงเคราะห์ กลุ่ม “พระไม่ทิ้งโยม” กว่า 20 รูป พร้อมทีมแพทย์ พยาบาลอาสาสมัครคอยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่ตกค้างให้ได้รับการเข้าถึงการรักษาที่ศูนย์พักคอยโดยแยกออกจากคนในครอบครัว มุ่งลดการแพร่ระบาดในชุมชมวงกว้าง
พระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. กล่าวว่า Temple Isolation ของวัดสุทธิวราราม มีรูปแบบการจัดการและวางระบบที่มีความพร้อม 5 ด้าน คือ 1.ด้านสถานที่ วัดรองรับผู้ป่วย 120 เตียง ปัจจุบันมีผู้ป่วย 60 คน และยังมีผู้ป่วยในชุมชนเจริญกรุง 57 กว่า 100 คน ซึ่งกลุ่ม “พระไม่ทิ้งโยม” ให้ความช่วยเหลือดูแลครอบคลุมทั้งผู้ป่วยโควิด-19 ในวัดและชุมชนรอบข้าง 2.ด้านการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย ร่วมกับ โรงพยาบาลสงฆ์ และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดทีมแพทย์ พยาบาล เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยในศูนย์พักคอยตลอด 24 ชั่วโมง แบ่งเป็นกลางวัน 3 คน และกลางคืน 3 คน 3.ด้านอาหาร วัดรับบริจาควัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบอาหารให้แก่ผู้ป่วย 3 มื้อ และรับบริจาคอาหารแห้ง อาหารกล่อง น้ำดื่ม เพื่อนำไปแบ่งปันให้ผู้ป่วย รวมถึงกลุ่มคนเปราะบางในชุมชน 4.ด้านการค้นหาผู้ป่วย กลุ่ม “พระไม่ทิ้งโยม” ร่วมลงพื้นที่เชิงรุกในชุมชนรอบข้างค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาเร็วที่สุด และ 5.ด้านการสื่อสาร มีการพัฒนาสื่อรูปแบบอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย กระจายสู่คนในพื้นที่ โดยจะขยายการผลิตสื่อชุดความรู้ในรูปแบบคลิปวิดีโอ เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจให้สังคมไทยสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ในวงกว้างต่อไป
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งพัฒนาสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชน โดยผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้พระพุทธศาสนาและการพัฒนาสังคม ภายในวัดสุทธิวรารามขึ้น โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้ผลักดันให้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่วัด เพื่อรองรับผู้ป่วยในชุมชน ระบบ Temple Isolation ของวัดสุทธิวราราม ถือเป็นต้นแบบดูแลผู้ป่วยในวัดหรือสถานศึกษาสงฆ์พื้นที่อื่นๆ ได้ เนื่องจากขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีอาการกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาของตัวเองจำนวนมาก โดย สสส. จะประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อขยายแนวทางการจัดทำระบบ Temple Isolation ให้ได้มากที่สุด ขณะนี้ สสส. สานพลังภาคีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเสนอมหาเถรสมาคมผลักดันแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 วัด 1 ตำบลทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดภาระปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ตัดวงจรการระบาดและลดจำนวนผู้เสียชีวิตของไทย
ทั้งนี้ องค์กรที่มีความพร้อมหรือสนใจ ติดต่อได้ที่เว็บไซต์ https://stopcovid.anamai.moph.go.th/dashbord_center/ เพื่อแจ้งความประสงค์จัดตั้ง Community Isolation โดยจะมีทีมงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหาแนวทางการจัดการวางระบบที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานต่อไป