ชุมชนต้นแบบ “บ้านยางชุม-วังศิลาโมเดล” จ.สุรินทร์ ฝึกอาชีพคนพิการ ช่วงโควิด-19

ภัยร้ายโควิด-19 กระทบคนพิการไม่มีงานทำเกือบแสนคน เสี่ยง ไม่มีรายได้ ขาดแคลนอาหาร สสส. – มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เปิดตัว ชุมชนต้นแบบ “บ้านยางชุม-วังศิลาโมเดล” จ.สุรินทร์ ฝึกอาชีพ หาพันธมิตรจ้างงาน ให้ทุนทรัพย์ประกอบอาชีพ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หาคนกลางรับซื้อผลผลิตถึงบ้าน สร้างความมั่นคงตั้งแต่วันนี้ถึงอนาคต

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดเป็นวงกว้างส่งผลกระทบต่อทุกคนจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาแรงงานถูกเลิกจ้างงาน สถานประกอบการบางแห่งต้องปรับลดอัตรากำลังการจ้างงานให้น้อยลง ลดเวลาการทำงาน ส่งผลกระทบต่อรายได้ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2564 พบคนพิการวัยทำงานที่ยังไม่มีอาชีพ จำนวน 72,466 คน จากจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบ 857,253 คน สสส. ได้ร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพความมั่นคงทางอาหารสู่การพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะ เพื่อพัฒนาการจ้างงานคนพิการระยะยาวในวิกฤตโควิด-19 โดยใช้กลไกชุมชนด้านความมั่นคงทางอาหารมาจ้างงานเชิงสังคม ให้คนพิการทำงานที่บ้านและในท้องถิ่นของตัวเองได้ เช่น เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ เพราะการจ้างงานลักษณะนี้คนพิการมีความรู้พื้นฐานเป็นทุนเดิม ทำให้ไม่ต้องปรับตัวจากการทำงานมาก และเป็นอาชีพที่สามารถทำงานที่บ้านและไม่ขาดแคลนอาหารในการบริโภค โดยโมเดลความมั่นคงทางอาหารและสนับสนุนอาชีพคนพิการมีเป้าหมาย 3 อย่าง คือ 1. พัฒนาทักษะคนพิการให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพที่ท้องถิ่นของตัวเองในภาวะวิกฤต 2. พัฒนาให้คนพิการทำงานตามแผนการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.พัฒนาเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อถอดบทเรียนการทำชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะ ระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ในอนาคต

“ในวิกฤตโควิด-19 นี้ ถือเป็นโอกาสสร้างอาชีพแก่คนพิการซึ่งเป็นอีกกลุ่มประชากรที่ควรได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพในทุกมิติ ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม การที่คนพิการสามารถประกอบอาชีพ และมีรายได้จากการทำงานเหมือนคนทั่วไป ทำให้เกิดความภูมิใจในตัวเอง และช่วยให้คนพิการมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีขึ้น เกิดการยอมรับจากสังคม โดยที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนเรื่องการส่งเสริมโอกาสการมีงานทำ ทั้งเรื่องการเตรียมความพร้อมของทั้งคนพิการ สถานประกอบการ และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการผ่านการมีส่วนร่วมในชุมชนอยู่แล้ว” นางภรณี กล่าว

นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า โครงการส่งเสริมอาชีพความมั่นคงทางอาหารสู่การพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะ สนับสนุนโดย สสส. จะเป็นการร่วมกันพัฒนาอาชีพไปยังคนพิการและครอบครัวในต่างจังหวัด ที่ตั้งใจพัฒนาเรื่องอาชีพและต้องการมีรายได้ในช่วงโควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างหรือมีรายได้น้อยลง โดยบริษัทที่จ้างงานจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายเรื่องวัตถุดิบอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ และประสานเรื่องการจัดทำเอกสารและติดตามส่งรายงานให้บริษัทที่เข้าร่วมการจ้างงานเชิงสังคม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 โดยคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีบัตรคนพิการ อายุ 20 – 70 ปี และผู้ดูแลจะต้องมีชื่อหลังบัตรคนพิการให้สามารถใช้สิทธิแทนคนพิการ เพื่อนำเงินไปเตรียมพื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพ ซึ่งครอบครัวคนพิการส่วนใหญ่จะนิยมปลูกผัก สมุนไพร ผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ และหลังจากผลผลิตถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็จะถูกจำหน่ายหรือมีผู้ค้าเข้ามารับซื้อ และผลผลิตส่วนที่เหลือหรือแบ่งเก็บไว้ครอบครัวคนพิการจะนำมาบริโภคเป็นอาหาร ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยผลกำไรหรือรายได้ทั้งหมดที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของคนพิการและครอบครัว บริษัทจะไม่เรียกรับเงินคืน เพราะต้องการสร้างอาชีพให้คนพิการในระยะยาวและสามารถต่อยอดไปถึงอนาคตได้ ปัจจุบันได้จัดทำนำร่องไปแล้วตั้งแต่โควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปี 2563 ที่บ้านยางชุม และบ้านวังศิลา อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ และเตรียมขยายพื้นที่เพิ่มไปยังจังหวัดต่างๆ ในอนาคตโดยมีโมเดลนำร่องจากที่นี่เป็นแบบอย่าง ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก คนพิการต้องมีงานทำ-มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 0 2279 9385