เมื่อกล่าวถึงที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หลายคนคงทราบดีว่าโครงการเคหะชุมชนแห่งแรก คือ “เคหะชุมชนดินแดง” เป็นชุมชนเคหะสงเคราะห์ขนาดใหญ่ที่เรียกกันอย่างคุ้นชินว่า “แฟลตดินแดง” ซึ่งเริ่มสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ถึงวันนี้อาคารแฟลตดินแดงชุดแรกอายุเกือบ 60 ปี ขณะเดียวกันก็มีผู้อยู่อาศัยรวมกันทั้งโครงการเกือบหนึ่งหมื่นหน่วย นั่นจึงเป็นที่มาของ “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง”
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” ว่าโครงการนี้ตั้งอยู่บริเวณแขวงดินแดง เขตดินแดง ขนาดพื้นที่ 157 ไร่ อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของการเคหะแห่งชาติยุทธศาสตร์ที่ 3 “การฟื้นฟูชุมชนเมือง พัฒนาเมืองใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบในหลักการแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559-2567) แบ่งการพัฒนาออกเป็น4 ระยะ โดยเป็นการพัฒนาโครงการรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจำนวน 6,546 หน่วย และการพัฒนาโครงการรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่จำนวน 13,746 หน่วย รวมทั้งสิ้น 20,292 หน่วย
การพัฒนาโครงการรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมประกอบด้วย โครงการฯ ระยะที่ 1 (อาคารพักอาศัยแปลง G) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 28 ชั้น รองรับผู้อยู่อาศัยจำนวน 334 หน่วย ส่วนโครงการฯ ระยะที่ 2-4 (อาคารพักอาศัยแปลง A, D1 และ C) เมื่อโครงการฯ ระยะที่ 1 แล้วเสร็จการเคหะแห่งชาติได้เริ่มดำเนินการในระยะที่ 2-4 ต่อทันที โดยโครงการฯ ระยะที่ 2 ประกอบไปด้วย อาคาร A1 และอาคาร D1 รวม 2 อาคาร 1,247 หน่วย ดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2564-2566 และเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะย้ายผู้อยู่อาศัยเดิมขึ้นอาคารใหม่ แล้วจะเริ่มรื้อถอนอาคารเดิมและพัฒนาโครงการฯ ในระยะที่ 3 ประกอบไปด้วย อาคาร A2–A4 อาคาร D2 และอาคาร C1 รวม 5 อาคาร 3,333 หน่วย กำหนดก่อสร้างในปี 2566-2568 และโครงการฯ ระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายประกอบไปด้วย อาคาร C2-C4 รวม 3 อาคาร 1,632 หน่วย กำหนดก่อสร้างในปี 2568-2570
ส่วนการพัฒนาโครงการรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ เป็นการพัฒนาเพื่อนำรายได้ไปชดเชยการลงทุนในการพัฒนาโครงการรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมที่เป็นการลงทุนโดยไม่มีผลกำไร โดยรูปแบบการพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ จำนวน 13,746 หน่วย แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ โดยอยู่ในการพัฒนาโครงการระยะที่ 3 และ 4 ตามแผนแม่บทโครงการฯ ประกอบด้วยแปลง D2, B และ E ซึ่งจะเริ่มพัฒนาในปี 2567-2570 ขณะนี้การเคหะแห่งชาติดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP)
“ถึงแม้ว่าโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงจะไม่มีผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน แต่จะเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนดินแดงมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย ตัวอาคารมีความมั่นคงและแข็งแรงขึ้นเพิ่มพื้นที่นันทนาการ พื้นที่เปิดโล่ง สวนสาธารณะ และร้านค้าชุมชนให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนดินแดงได้มีแหล่งประกอบอาชีพ เพราะมีการจัดพื้นที่สำหรับเป็นส่วนบริการชุมชนในพื้นที่รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม และพื้นที่เชิงพาณิชย์ในการพัฒนาพื้นที่รองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการนำชุมชนดินแดงไปสู่การเป็น Din-Daeng Smart City ต่อไปในอนาคต” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวย้ำ