เปิดตัว “เต้นจังหวะไทย จังหวะหัวใจ ฟัน แอโรบิกดานซ์” นวัตกรรมด้านสุขภาพพิชิตเครียด ห่างไกลโรค

สสส. จับมือศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีคนรุ่นใหม่ เปิดตัว “เต้นจังหวะไทย จังหวะหัวใจ ฟัน แอโรบิกดานซ์” นวัตกรรมด้านสุขภาพพิชิตเครียด ห่างไกลโรค NCDs เต้นง่ายทุกวัย ทุกสถานที่ พร้อมดาวน์โหลดได้ฟรีที่ YouTube Channel สสส.

ผศ.ดร.สุชาติ ทวีพรปฐมกุล ผู้อำนวยการศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันพัฒนา “จังหวะไทย จังหวะหัวใจ ฟัน แอโรบิกดานซ์” ถือเป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพ โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์การกีฬา และกฎกติกาสากลของแอโรบิกดานซ์ เข้ามาประยุกต์กับท่ารำไทยจากทุกภูมิภาค ตามหลักการออกกำลังกาย FITT ของ America College of Sports and Medicine 3 ด้าน คือ 1.ความถี่ในการออกกำลังกาย 2.ความหนักเบา และ 3.เวลาในการออกกำลังกายแต่ละครั้ง โดยเป็นการทำให้ร่างกายใช้พลังงานจากไขมันเป็นหลัก ช่วยพัฒนาระบบหายใจและหลอดเลือด และระบบไหลเวียนโลหิตให้แข็งแรง สามารถทำกิจกรรมหนักได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้เต้นแอโรบิกดานซ์ แม้จะพึ่งเริ่มหัดเต้น

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเสนอทางเลือก การเพิ่มกิจกรรมทางกายแก่สังคมไทยผ่านวีดิทัศน์ เต้นจังหวะไทย จังหวะหัวใจ ประกอบทำนองเพลงไทยพื้นบ้านโบราณ พร้อมท่ารำสี่ภาค จึงขยายผลร่วมมือกับศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมแอโรบิกดานซ์ พัฒนาเป็นการเต้น จังหวะไทย จังหวะหัวใจ ฟัน แอโรบิกดานซ์ เพื่อเพิ่มระดับของการออกแรงขยับ และสร้างความแข็งแรงต่อร่างกายยิ่งขึ้น ซึ่งครบองค์ประกอบการออกกำลังกายทั้ง 3 ด้านหลัก คือ ระบบกล้ามเนื้อหัวใจ ระบบกล้ามเนื้อ และการยืดเหยียด เพราะหลักการเต้นแอโรบิกดานซ์จะต้องขยับร่างกายทุกส่วนตลอดเวลา

“สสส. สนับสนุนให้คนไทยเพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ดังนั้นการออกแบบวีดิทัศน์จังหวะไทย จังหวะหัวใจ ฟัน แอโรบิกดานซ์ ทั้งทำนองเพลงที่มีระดับความเร็วเหมาะสม กระตุ้นให้ผู้ฟังรู้สึกอยากขยับร่างกายและสนุกสนานไปตามจังหวะเพลงอย่างต่อเนื่อง ท่าทางในการเต้น ก็สามารถเต้นตามได้ทุกเพศ ทุกวัย สนุกผ่อนคลาย เต้นได้ทุกสถานที่ มีความปลอดภัย ซึ่งควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างน้อย 150 – 300 นาทีต่อสัปดาห์ ตามข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลกส่งผลดีต่อสุขภาพ ลดอาการเนือยนิ่ง ช่วยลดระดับความเครียด และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ต้นเหตุของการเสียชีวิต เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานประเภท 2 โรคอ้วนลงพุง มะเร็งเฉพาะจุด สุขภาพจิต (อาการวิตกกังวลและหดหู่ที่ลดลง) และยังช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นด้วย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

รศ.สุกัญญา พานิชเจริญนาม นายกสมาคมแอโรบิกดานซ์ กล่าวว่า จังหวะไทย จังหวะหัวใจ ฟัน แอโรบิกดานซ์ เป็นงานสร้างสรรค์ที่สำเร็จขึ้นมาได้จากความร่วมมือของกลุ่มคนหลายช่วงอายุ มีการเปิดรับความเห็นจากคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ วิเคราะห์ จนตกผลึก โดยนำท่ารำไทยมารวมกับการเต้นแอโรบิกดานซ์ ให้เกิดความร่วมสมัย และง่ายต่อการเต้นตาม มั่นใจได้ว่าจะสามารถดึงดูดคนไทยทุกกลุ่มวัยหันมาออกกำลังกายด้วยการเต้นจังหวะไทย จังหวะหัวใจ ฟัน แอโรบิกดานซ์ มากขึ้น ทั้งนี้ ตามหลักการเต้นแอโรบิกดานซ์สากล จะยึดหลักเกณฑ์การเคลื่อนไหวใน 3 ระดับ เริ่มจากระดับเบา เพื่ออุ่นระบบหัวใจ และข้อต่อกล้ามเนื้อ ซึ่งตรงกับท่ารำภาคเหนือ และรำวงภาคกลาง จากนั้นจะเร่งการเคลื่อนไหวในระดับหนักขึ้นด้วยท่ารำจากภาคใต้ เช่น ลิเกฮูลู และท่ารำภาคอีสาน เช่น รำเซิ้ง เพื่อยืดเหยียดระบบกล้ามเนื้อ และข้อต่อให้ขยายตัว ขณะที่ระบบหายใจและหัวใจจะทำงานเร็ว และหนักขึ้นเพื่อดึงไขมันไปสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย และจบด้วยการเคลื่อนไหวระดับเบา เพื่อคลายอุ่นร่างกายและหัวใจกลับมาปกติ

นายอภินัทธ์ ตรีชั้น ผู้ออกแบบท่าเต้น จังหวะไทย จังหวะหัวใจ ฟัน แอโรบิกดานซ์ กล่าวว่า การออกแบบท่าเต้นอยู่ภายใต้โจทย์ ความง่ายในการเต้นตามที่ไหนก็ได้ ทั้งพื้นที่แคบและพื้นที่กว้าง ทำได้ทุกวัน สนุกสนาน และสื่อสารกับคนทุกเพศ ทุกวัย มีความปลอดภัย จึงใช้พื้นฐานจากท่ารำสี่ภาค และการละเล่นพื้นบ้าน ผ่านการเรียงลำดับความหนักเบาของท่าให้เป็นตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อลดอาการบาดเจ็บและให้ประโยชน์ต่อร่างกายสูงสุด โดยการออกแบบท่าเต้น เริ่มจากการฟังเพลง เชื่อมต่อท่า เรียบเรียงท่าให้เข้ากับสัดส่วนเพลงในแต่ละส่วนเหมือนการไล่ระดับกราฟ คือไล่ตั้งแต่การเริ่มทำไปจนถึงขั้นหนักแน่นและค่อยๆ คลาย คำนึงถึงความสบายตัวของผู้เต้น ไม่เกร็ง ให้เป็นตัวเอง ไม่อยู่ในกรอบจำกัด เราทำแล้วเรารู้สึกสบายใจ ไม่มีผิด ไม่มีถูก รู้สึกถึงความอิสระ เพราะแต่ละคนมีความสบายในการขยับร่างกายไม่เท่ากัน ท่าต่าง ๆ ได้มาจากแรงบันดาลใจจากการสังเกตกิจวัตรประจำวันของคนแต่ละภาค การเดิน การหยุดยืนดูคนออกกำลังกาย การไปสอนเต้น ให้กับคนแต่ละช่วงวัย

สำหรับผู้ที่ต้องการวีดิทัศน์ “จังหวะไทย จังหวะหัวใจ ฟัน แอโรบิกดานซ์” สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ YouTube Channel สสส https://youtu.be/rqajZG-h6_w