“โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง” อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของการเคหะแห่งชาติยุทธศาสตร์ที่ 3 “การฟื้นฟูชุมชนเมือง พัฒนาเมืองใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบในหลักการแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559-2567) แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะโดยเป็นการพัฒนาโครงการรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจำนวน 6,546 หน่วย และการพัฒนาโครงการรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่จำนวน 13,746 หน่วย รวมทั้งสิ้น 20,292 หน่วย
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการในระยะที่ 2 รวม 2 อาคาร ได้แก่ อาคารพักอาศัยแปลง A (อาคาร A1) จำนวน 635 หน่วย และอาคารพักอาศัยแปลง D1 (อาคาร D1) สูง 32 ชั้น จำนวน 612 หน่วย ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2564–2566
นอกจากนี้การเคหะแห่งชาติยังมีแผนดำเนินโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองอีก 3 พื้นที่ ได้แก่ “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง” ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 มีหน่วยพักอาศัยจำนวน 3,360 หน่วยบริเวณรอบโครงการมีอาคารพาณิชย์ ตลาดสด และแผงร้านค้า การเคหะแห่งชาติจึงบรรจุโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวางไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจและจัดทำข้อมูลฐานชุมชน โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการศึกษา เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนด้านกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงรับฟังความคิดเห็นสร้างการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาและจัดทำแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวางในอนาคต
“โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา” ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัยชุมชนชานเมืองที่ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2519 ขนาดพื้นที่ 52 ไร่ มีหน่วยพักอาศัย รวม 812 หน่วย ประกอบด้วยอาคารชุดพักอาศัยสูง 5 ชั้น จำนวน 490 หน่วย บ้านแถวสองชั้น จำนวน 322 หน่วย รวมทั้งร้านค้าและบริการสาธารณะ ปัจจุบันโครงการเคหะชุมชนรามอินทรามีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา อีกทั้งพื้นที่โครงการดังกล่าวมีระดับต่ำกว่าถนนประมาณ 1.50 เมตร ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง รวมทั้งสภาพความแออัดที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ซึ่งสวนทางกับการพัฒนาเมืองที่กำลังเกิดขึ้น การเคหะแห่งชาติจึงมีแนวทางในการดำเนินงาน “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา” เพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชน จึงบรรจุไว้ในแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579) โดยโครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบแผนแม่บทโครงการจากคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติในเบื้องต้นแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอรายละเอียดโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เพื่อขอความเห็นชอบประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการขออนุมัติจัดทำโครงการต่อไป
โครงการเคหะชุมชนทุ่งสองห้องเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นตามแผนเร่งรัดของการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2522–2525 เพื่อจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (ไม่เกิน 2,500 บาทต่อเดือน) ได้จัดสร้างบนที่ดินขนาด 29.82 ไร่ ประกอบด้วยห้องพักอาศัยและพื้นที่พาณิชยกรรมจำนวน 1,369 หน่วย พื้นที่จัดประโยชน์ 27 หน่วย แผงร้านค้าประมาณ 50 หน่วย และบริการสาธารณะ ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โครงการมีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลาที่มีการอยู่อาศัยมากว่า 39 ปี โดยขณะนี้ “โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนทุ่งสองห้อง” อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลชุมชน โดยมีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เป็นผู้ดำเนินการศึกษา ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลชุมชนครบ 100% ได้ผลการสำรวจคิดเป็นร้อยละ 87.5 ของจำนวนผู้เช่าทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานฉบับสมบูรณ์
“การเคหะแห่งชาติ มุ่งมั่นพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้อยู่อาศัย มีทั้งการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิม และการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ ตามแนวทางเน้นย้ำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการเสริมสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาสการเข้าถึงสวัสดิการสังคมด้านที่อยู่อาศัยให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางจะต้องมีที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กัน” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวย้ำ