พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่มีประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการจัดการศพผู้ป่วยซึ่งเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อติดต่อร้ายแรง กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติในการจัดการศพผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อติดต่อร้ายแรงแก่ฝ่ายสิ่งแวดล้อม 50 สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต เพื่อให้สามารถลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจกับวัดที่มีเผาศพและชาวชุมชนได้อย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
สำหรับแนวทางที่กรุงเทพมหานครใช้ในการจัดการศพผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อติดต่อร้ายแรง มีดังนี้ 1.บุคลากรที่สัมผัสกับศพ ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการแพร่กระจายเชื้ออย่างเคร่งครัด 2.หากจะฉีดยาศพต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง บุคลากรสวม PPE อย่างครบถ้วน 3.ถุงบรรจุศพทำด้วยวัสดุกันน้ำ เช็ดด้านนอกด้วยแอลกอฮอล์ 70% ก่อนนำออกจากห้องผู้ป่วย 4.เก็บศพในตู้เย็นแช่ศพ 5.ญาติหลีกเลี่ยงการสัมผัสศพ หากต้องสัมผัสศพให้ทำความสะอาดในทันที 6.หากต้องทำการชันสูตรศพ ควรทำในห้อง Negative pressure (ความดันภายในห้องน้อยกว่าความดันภายนอก) 7.อุปกรณ์ที่ใช้กับศพให้ถือเป็นมูลฝอยติดเชื้อ ให้ปฏิบัติตามแนวทางอย่างเคร่งครัด และแนวทางการจัดการศพ มีดังนี้ 1.เจ้าหน้าที่จัดการตกแต่งศพ ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคลให้เหมาะสม 2.ห่อศพด้วยผ้าพลาสติก 2 ชั้น หรือถุงซิปห่อศพ 2 ชั้น และผิดผนึกด้วยแถบกาวด้านหน้าบริเวณซิป
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการเผาศพ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้เร่งลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับวัดในพื้นที่ที่มีการเผาศพ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่เผาศพต้องสวมถุงมือชนิดใช้ครั้งเดียว หน้ากากอนามัยและเสื้อคลุมกันเปื้อน เมื่อต้องสัมผัสกับศพทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงการเปิดหีบศพกรณีศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคติดต่อร้ายแรง และในการเผาศพ ต้องใช้เตาเผาศพปลอดมลพิษแบบสองห้องเผา โดยต้องควบคุมอุณหภูมิในห้องเผาศพ ไม่น้อยกว่า 760 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิในห้องควันไม่น้อยกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ตลอดระยะเวลาการเผาศพ ทั้งนี้ในปัจจุบันมีกรุงเทพมหานครมีวัดที่มีการเผาศพ จำนวนทั้งสิ้น 308 วัด และทุกวัดมีเตาเผาศพแบบปลอดมลพิษ ประเภทมีสองห้องเผา ดังนั้นทุกวัดจึงสามารถทำพิธีฌาปนกิจศพได้ตามเกณฑ์มาตรการที่กำหนด