พช. เดินหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย “Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” จังหวัดอุดรธานี มุ่งสร้างรายได้ชุมชนท้องถิ่น เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานรากมั่นคงอย่างยั่งยืน
วันที่ 11 มิ.ย. 65 นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) กิจกรรมที่ 1 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้า และอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) โดยมี ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายคมกริช ชินชนะ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายกัมปนาทจักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา พัฒนาการจังหวัดอุดรธานี นายอดุลย์ ดีอ้อม พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ และผู้แทนพัฒนาการจังหวัด นางสาวริตยา รอดนิ่ม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น นางสาวบุศราวรรณ เรืองช่อ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน จังหวัดหนองคาย นายสุทธิรักษ์ ศรีสุเลิศ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน จังหวัดหนองบัวลำภู นายอร่ามศักดิ์ วิริยะศรีสุวัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน จังหวัดเลย นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ดร.ศรินดา จามรมาน กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและช่างทอผ้าจากจังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย และจังหวัดหนองบัวลำภู รวม 63 กลุ่ม ร่วมกิจกรรมฯ ณ โรงแรมมลฑาทิพย์ ฮอลล์ จังหวัดอุดรธานี
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีความมุ่งมั่นและตั้งพระทัยในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าของคนไทย ตั้งแต่เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นราษฎรนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่ และทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้น เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร ในเวลาต่อมา และในปี พ.ศ. 2565 นี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา และเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ และเพื่อเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพในด้านการออกแบบผ้าไทยและด้านแฟชั่น ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยโครงการพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) นี้ เป็นหนึ่งในโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประจำปี 2565 ที่จะร่วมสืบสานพระราชปณิธาน ทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงอีกด้วย
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวต่อว่า ในปี 2563-2564 กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ได้จัดทำกิจกรรมพัฒนาให้ร่วมรู้ตามชุมชนต่างๆ ในการทำผ้าลายพระราชทานลายแรก คือ “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ลายขอเจ้าฟ้าฯ” มีการจัดประกวดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน มีผู้สนใจส่งเข้าประกวดกว่า 2,000 ผืนทั่วประเทศ แบ่งการประกวดเป็นระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ โดยเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มีผ้าเข้าสู่รอบสุดท้าย 50 ผืน และผ้าลายขอเจ้าฟ้าฯ มียอดจำหน่ายสูง เป็นที่ต้องการมาก โดยเฉพาะผ้าพื้นถิ่นอีสานเป็นผ้าคุณภาพสูง อาทิ โคราช หนองบัวลำภู อุดรธานี กรมการพัฒนาชุมชนได้นำแนวพระดำริที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าสิริวรรณวรีณารีรัตน์ ราชกัญญาได้พระราชทาน ในการใช้ภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ได้เสด็จฯ อำเภอนาหว้าซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เพื่อสืบสานสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และได้พระราชทานลายผ้าลายใหม่ คือ “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้แก่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยเป็นลายชุดที่สองซึ่งได้พระราชทาน มีการนำลายผ้านี้ไปต่อยอดในงานหัตถศิลป์หัตถกรรม อาทิ ประดิษฐ์เป็นแก้วน้ำ และเนื่องด้วยปีนี้เป็นปีพิเศษ ครบรอบ 50 ปี โครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้ดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ทั้งการให้ความรู้เรื่องลายผ้าพระราชทานและการจัดการประกวด ซึ่งบ้างก็ว่าไม่ยากบ้างก็ว่ายากขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคนในแต่ละพื้นที่ โดยในปีนี้จะมีการเปิดกว้างมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เน้นเรื่องความเป็นธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการใช้สี ไหมและสีย้อมต้องมากจากธรรมชาติ ถ้าใช้สีเคมีจะไม่รับพิจารณา เนื่องจากการใช้สีเคมีจะส่งผลให้เกิดมลพิษ ในปีที่แล้วน่าเสียดายที่มีหลายจังหวัดใช้สีย้อมเป็นสีเคมีส่งมาประกวดกว่า 70 ผืน ซึ่งไม่ผ่านการพิจารณา
“การประกวดดำเนินการสืบเนื่องมาจนถึงปีนี้ โดยมีลายใหม่ซึ่งมีทีมที่ปรึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญมาคอยแนะนำ ตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีเอกสารองค์ความรู้จากงานวิจัยเรื่องสีธรรมชาติ การเลือกใช้สีตามแนวทางแฟชั่นโลกที่ได้รับความนิยม รวมถึงการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญให้เป็นแนวใหม่ สวยงาม ร่วมสมัย เพื่อเปิดตลาดวัยรุ่นตามแนวทาง “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยกิจกรรม Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา มีทั้งเรื่องการย้อม ลวดลาย การเลือกผ้า แฟชั่นให้ได้เรียนรู้ โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 7 และการประกวดก็เริ่มขึ้นแล้ว มีการประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ออกมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้เปรียบเนื่องจากมีศักยภาพในการทอผ้าลวดลายต่างๆ ได้โดดเด่น มีผ้าอัตลักษณ์ของตนเองแทบทุกจังหวัด สามารถนำลายพระราชทานเพิ่มเติมอัตลักษณ์ของตนเองให้กับพื้นถิ่นของตนเองได้เพื่อพัฒนาเพิ่มขึ้น ซึ่งการประกวดจะคัดเลือกผ้าในระดับภาคและระดับประเทศโดยผู้เชี่ยวชาญ นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่า และยังนำไปต่อยอดสร้างอาชีพสร้างรายได้ แบบครบวงจร ทั้งคนปลูกหม่อนปลูกฝ้าย คนทอผ้า คนย้อมผ้า ไปถึงคนแปรรูป มีรายได้ครบทั้งกระบวนการ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ตามพระดำริที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแนวทางทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงหวังว่าผู้ประกอบการที่มาร่วมประชุม จะได้รับรู้แลกเปลี่ยนและนำไปต่อยอดได้ ส่วนท่านใดที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ดำเนินการในจุดดำเนินการต่างๆ ก็สามารถร่วมสนับสนุนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและผลิตภัณฑ์ผ้าสร้างสรรค์ หรือสามารถรับชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไทยผ่านช่องทางออนไลน์ได้ (การ Live สด ผ่าน Facebook เพจ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชปณิธาน อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาการทอผ้า ส่งเสริม สนับสนุนการสร้างอาชีพ กระจายรายได้สู่ชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเชิญชวน