อาลัย “ส.พลายน้อย” ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนอมตะ

สวธ.แจ้งการบำเพ็ญกุศล “ปราชญ์ผู้รอบรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมไทย” ส. พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และนักเขียนอมตะ

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า วงการวรรณกรรมและวัฒนธรรมของประเทศไทยสุดเศร้า เมื่อได้รับรายงานว่า นายสมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2553 ได้ถึงแก่กรรมแล้ว ในวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.40 น. ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรุงเทพฯ ด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สิริรวมอายุ 93 ปี ซึ่งทายาทแจ้งว่า มีกำหนดการเผาศพ วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2565 เวลาประมาณ 12.00 น. ณ วัดอนงคารามวรวิหาร ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ (โดยดำเนินการฌาปนกิจตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข)

อธิบดีสวธ. เปิดเผยอีกว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ดำเนินการเผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน แล้ว ในยามที่ศิลปินฯ เสียชีวิต ยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการฌาปนกิจศพ คือ มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท และขอพระราชทานเพลิงศพให้(กรณีเสียชีวิตปกติ) ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ

ประวัติโดยสังเขป นายสมบัติ พลายน้อย หรือ ส. พลายน้อย ท่านเพิ่งอายุครบ 93 ปี เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2472 ส. พลายน้อย เป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยกำเนิด จบการศึกษาประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษประถม (พ.ป.) และได้รับทุนให้ไปอบรมการจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาที่ N.H.K. ประเทศญี่ปุ่น เริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นเสมียนสรรพากรและเปลี่ยนอาชีพไปรับราชการครู ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานโสตทัศนูปกรณ์และเอกสารสิ่งพิมพ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และเป็นบรรณาธิการวารสารวัฒนธรรมไทย จากนั้นได้ลาออกจากราชการเพื่อเขียนหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว

ท่านไม่ได้เป็นแค่นักเขียน แต่ยังเป็นปราชญ์ เป็นผู้รอบรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี เป็นทั้งนักอ่าน นักค้นคว้า นักเขียนที่มีความลึกซึ้ง ที่ได้สร้างสรรค์งานเขียนในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์วรรณคดี โบราณคดี อักษรศาสตร์ ชีวประวัติบุคคลสำคัญ วัฒนธรรมวิถีชีวิต รวมถึงสารคดีทั่วไป มาเป็นเวลาต่อเนื่องกว่าหกศตวรรษ ทั้งยังได้จัดทำสารานุกรมวัฒนธรรมไทย และสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เป็นผลงานที่สามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลเพื่ออ้างอิงได้ และยังมีงานเขียนในรูปแบบนิทานที่ให้ความรู้ทั้งนิทานไทยและนิทานนานาชาติจำนวนมาก รวมผลงานที่ท่านได้สร้างสรรค์และได้รับการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มจากอดีตถึงปัจจุบันมากกว่า 100 เล่ม

ท่านได้สร้างสรรค์งานเขียนมากมายหลายประเภท อาทิ งานเขียนประวัติบุคคลสำคัญ เช่น เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ พระเจ้าตากสินมหาราชแห่งชาติไทย พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา เจ้าฟ้าจุฑามณี พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวต่างประเทศในประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์และเรื่องน่ารู้ต่าง ๆ เช่น สารคดีน่ารู้สารพัดนึก เล่าเรื่องบางกอก 100 รอยอดีต พระราชวัง เล่าเรื่องพม่ารามัญ สารานุกรม เช่น สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย สารานุกรมวัฒนธรรมไทย วรรณคดี และความเชื่อ เช่น เทวนิยาย สัตวนิยาย พฤกษนิยาย อมนุษยนิยาย นิทานมหัศจรรย์ นิทาน เช่น นิทานไทย นิทานไทยแสนสำราญ นิทานวรรณคดี นิทานเพื่อนบ้าน นิทานมหัศจรรย์ สารคดีเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เช่น แลไปข้างหลัง เกิดในเรือ โลกแสตมป์ สรรพสารคดี เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง ฯลฯ

ผลงานของ ส. พลายน้อย ได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขาวรรณศิลป์ (สารคดี ) ประจำปี พ.ศ. 2539 รางวัล “นักเขียนอมตะ” คนที่ 4 ประจำปีพุทธศักราช 2551 จากมูลนิธิอมตะ และได้รับประกาศยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย พุทธศักราช 2552 และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2553 ถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของชีวิต

ผลงานที่ท่านได้สร้างสรรค์ไว้ เป็นการเปิดโลกทัศน์แห่งความรู้ ความคิด และจินตนาการแก่ผู้อ่าน เป็นหนังสือที่ใช้อ้างอิงได้อีกนาน ส่งผลต่อการปลูกฝังค่านิยมในความเป็นชาติ แม้ว่า ปัจจุบันท่านจะชราภาพแล้ว แต่ยังคงใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับการอ่านหนังสือและการเขียนหนังสือเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจ จึงกล่าวได้ว่า ส. พลายน้อย เป็นศิลปินนักเขียนที่เป็นแบบอย่าง ในการอุทิศตนอนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริม สร้างสรรค์และเผยแพร่ภูมิปัญญาไทย ด้วยผลงานวรรณศิลป์อันทรงคุณค่ามีคุณูปการอย่างยิ่งต่อสังคมไทย