เหยื่อ PM2.5 พุ่งหลักล้าน!! เตือนระวังปอดเสี่ยงมะเร็ง สธ.เผย 15 จังหวัดทั่วไทย ยอดผู้ป่วยสูงต่อเนื่อง!!

จับตา 15 จังหวัดผู้ป่วยจาก PM2.5 พุ่งสูง กระทรวงสาธารณสุขเผยตัวเลข จากต้นปีป่วยแล้วกว่า 1.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจ กรมอนามัยเตือนควรหลีกเลี่ยง ระวังปอดแถมเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 พบพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ น่าน (อ.เมือง อ.เฉลิมพระเกียรติ) เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.ฮอด อ.เชียงดาว อ.แม่แจ่ม) เชียงราย (อ.เมือง อ.แม่สาย อ.เชียงของ) แพร่ (อ.เมือง) พะเยา (อ.เมือง) ลำพูน (อ.เมือง อ.ลี้) ลำปาง (อ.เมือง อ.แม่เมาะ) แม่ฮ่องสอน (อ.เมือง อ.แม่สะเรียง อ.ปาย) อุตรดิตถ์ (อ.เมือง) สุโขทัย (อ.เมือง) ตาก (อ.แม่สอด อ.เมือง) พิษณุโลก (อ.เมือง) เพชรบูรณ์ (อ.เมือง) นนทบุรี (อ.เมือง อ.ปากเกร็ด) และ กทม.ทั้ง 50 เขต โดยมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่มอีก 6 จังหวัด ส่วนพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นมากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วันมี 36 จังหวัด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

“ค่าฝุ่น PM 2.5 ปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปี 2564 และ 2565 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด 19 การเดินทางน้อย ทำให้มีค่าฝุ่นน้อย อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ วันที่ 9-14 มีนาคม 2566 โดยกรมควบคุมมลพิษ พื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากมีลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ส่วนภาคเหนือตอนบนและตอนล่างยังมีแนวโน้มสูงขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน สถานการณ์ฝุ่นจะค่อยๆ ลดลง คาดว่าจะยังมีปัญหาอยู่อีก 1-2 สัปดาห์ จึงต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคทางปอดและหัวใจ รวมถึงเด็กเล็ก โดยช่วงที่มีค่ามีฝุ่นสูง ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 5 มีนาคม 2566 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 ราย โดยสัปดาห์นี้พบผู้ป่วย 196,311 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พบ 161,839 ราย กลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 583,238 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 85,910 ราย, กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 267,161 ราย เพิ่มขึ้น 35,878 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 242,805 ราย เพิ่มขึ้น 36,537 ราย และโรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 ราย เพิ่มขึ้น 33,413 ราย

ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) กระจายในภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หากประชาชนได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในระยะยาว จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็งปอด เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะเข้าไปทำให้เนื้อเยื่อปอดอักเสบ ส่งผลต่อกระบวนการแบ่งตัวผิดปกติภายในเซลล์ ส่งผลให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง
หากได้รับในปริมาณมากและระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบของสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง
เช่น โพลิไซคลิกอโรมาติกไฮโดรคาร์บอน หรือสารอินทรีย์ระเหยง่าย ซึ่งส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน
ซึ่งองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer, IARC, 2013) ระบุว่า มลพิษทางอากาศ และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย

การรับสัมผัส PM2.5 เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอด นอกจากการได้รับควันบุหรี่ หรืออยู่ในสถานที่ทำงานที่มีสารก่อมะเร็ง หรืออาจเกิดจากพันธุกรรม โดยจากข้อมูลการศึกษาภาระโรคขององค์การอนามัย ปี 2562 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากฝุ่นละอองในบรรยากาศ จำนวนรวม 31,081 ราย โดยมีสาเหตุจากโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) 11,408 ราย โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 7,274 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) 3,043 ราย และมะเร็งปอด 2,464 ราย นอกจากนี้ รายงานการเจ็บป่วยโรคจากมลพิษทางอากาศของคลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าการเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึง มะเร็งปอด ซึ่งในปี 2565 พบรายงานผู้ป่วยมะเร็งปอดถึง 189,713 ราย คิดเป็น 291.18 ต่อแสนประชากร

“ทั้งนี้ กรมอนามัยขอให้ประชาชนและกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ ป้องกันตนเอง
จากฝุ่น PM2.5 โดยลดกิจกรรมนอกบ้านและอยู่ภายในบ้านหรือในอาคารให้มากขึ้น ควรใส่หน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น PM2.5 เมื่อต้องออกนอกอาคาร งดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงในที่ที่มีฝุ่นมาก งดสูบบุหรี่ และหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ แสบจมูก แสบคอ หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่าย หรือไอ ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที และให้ช่วยกันลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

อีกทั้ง ประชาชนควรเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัส PM2.5 พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ “4HealthPM2.5” หรือ เว็บไซต์ “คลินิกมลพิษออนไลน์” และหากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงหวีด ให้รีบไปพบแพทย์ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือกรมควบคุมโรค 1422” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *