อาหารสัตว์ในตลาดจีนรุ่งหรือร่วง? เปิดทางเจาะตลาด 100 ล้านครัวเรือน หรือนี่คือโอกาสทองผู้ประกอบการไทย

อาหารสัตว์กับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ถือได้ว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารสัตว์ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เป็นที่รับรู้ของตลาดต่างประเทศต่อเนื่องมาหลายปี และกลายมาเป็นอีกหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการและ เป็นรายได้ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

แต่ท่ามกลางสถานการณ์การค้าของโลกที่่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะตลาดใหญ่ๆ อย่างประเทศจีน ซึ่งมีดีมานด์อาหารสัตว์สูงมาก และเป็นที่หมายปองของผู้ผลิตอาหารสัตว์จากหลากหลายประเทศ ทั้งที่เป็นคู่แข่งของไทย และทั้งที่เป็นผู้ผลิตในจีนเอง สถานการณ์และแนวโน้มสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในจีน จะเป็นอย่างไร และผู้ประกอบการไทย จะปรับตัวปรับแผนกลยุทธ์เพื่อเจาะตลาดอาหารสัตว์ในจีนอย่างไร นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่ใช่น้อยสำหรับตลาดยักษ์ใหญ่อาหารสัตว์ของโลกอย่างจีน

เกี่ยวกับข้อมูลตลาดอาหารสัตว์ในจีน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาสถานการณ์การค้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในจีน พบว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนมีการเติบโตสูง เนื่องจากชาวจีนนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และยังมีค่าใช้จ่ายด้านสัตว์เลี้ยงต่อครัวเรือนค่อนข้างสูง โดยในปี 2564 จีนนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขหรือแมว (พิกัดสินค้า 2309.10) เป็นมูลค่ารวม 580.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่สำคัญของจีน ได้แก่ แคนาดา (สัดส่วนร้อยละ 47.3 ของมูลค่าการนำเข้า) รองลงมา คือ สหรัฐฯ (ร้อยละ 19.7) และนิวซีแลนด์ (ร้อยละ 13.0) สำหรับไทย เป็นอันดับ 4 (ร้อยละ 11.1) (ที่มา: trademap.org) ตลาดจีนจึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง สอดคล้องกับนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ผลักดันและส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับที่ 1 ของโลก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

จากรายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากสหรัฐฯ ไปจีน ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) แสดงให้เห็นว่า ปี 2565 แคนาดาซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ที่สุดของจีน ประสบปัญหาไข้หวัดนกระบาด ทำให้จีนห้ามนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมของสัตว์ปีกจากแคนาดา ส่งผลให้บริษัทอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ระดับโลก (อาทิ บริษัท Acana) ย้ายฐานการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมของสัตว์ปีกจากแคนาดาไปประเทศอื่น ๆ รวมทั้งย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐฯ นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 สหรัฐฯ และจีน ได้ลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างกัน(U.S.-China Phase One Economic and Trade Agreement) โดยจีนผ่อนคลายข้อจำกัดการนำเข้า อาทิ ยกเลิกการทดสอบส่วนผสม (Ingredient Testing) และอนุญาตให้นำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากสหรัฐฯ ที่มีส่วนผสมของสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศที่ 3 หากส่วนผสมได้นำเข้ามาในสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมาย ทำให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากข้อตกลงฯ

ทั้งนี้ จีนถือเป็นประเทศที่มีข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยง ผู้ส่งออกทุกรายต้องได้รับการประเมินและขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง โรงงานผลิตอาหารสัตว์ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานศุลกากรของจีน (China’s General Administration of Customs: GACC) และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีน (Ministry of Agriculture and Rural Affairs: MARA) ทั้งนี้ ไทยมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ GACC จำนวน 33 โรงงาน เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ที่มีจำนวน 88 โรงงาน (ข้อมูลล่าสุด เดือนตุลาคม 2565) และไทยมีจำนวนผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ ของจีน เป็นอันดับ 4 รองจากสหรัฐฯ แคนาดา และนิวซีแลนด์ โดยสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขหรือแมวจากที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ขึ้นทะเบียนใหม่และต่ออายุกับกระทรวงเกษตรฯ ของจีน ในปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 435 รายการ (Stock Keeping Unit: SKU) และเป็นสินค้าไทย 52 รายการ คิดเป็นร้อยละ 12 (ข้อมูลล่าสุด เดือนธันวาคม 2565)

แนวโน้มสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนมีการเติบโตอย่างมาก คาดว่าภายในปี 2565 จะมีจำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เกิน 100 ล้านครัวเรือน โดยสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มพรีเมียม ปัจจุบันชาวจีนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น รวมกับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุชาวจีนและค่านิยมการมีลูกคนเดียว ทำให้ชาวจีนนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ภายใต้สถานการณ์ล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 อยู่ที่ 2,041 หยวนต่อปี (ประมาณ 10,000 บาทต่อปี) ทั้งนี้ อีคอมเมิร์ซเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนเติบโตอย่างมาก โดย USDA ได้อ้างถึงรายงานตลาดอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของจีน (China Pet Industry White Paper)

ปี ค.ศ. 2022 ระบุว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงชาวจีนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71 นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสินค้าที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเป็น 1 ใน 4 สินค้าที่ชาวจีนนิยมซื้อในเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ โดยเฉพาะเทศกาลวันคนโสด หรือ Double 11 (11.11) ที่มียอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงสูงถึง 1.909 พันล้านหยวน (273 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับ
ปีที่ผ่านมา

ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า จีนเป็นตลาดสำหรับสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่ไทยสามารถผลักดันการส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ ทำการตลาดและจำหน่ายสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมของจีน เจาะกลุ่มตลาดพรีเมียมด้วยคุณภาพของสินค้า โดยการวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้านคุณค่าโภชนาการของอาหารสัตว์เลี้ยง ศึกษารสนิยม/พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงศึกษาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงของคู่แข่ง ทั้งจากผู้ผลิตจีน และผู้ส่งออกที่เป็นคู่แข่งในตลาดจีนอย่างแคนาดา สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานและความปลอดภัยของวัตถุดิบและสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผลิตจากประเทศไทย

ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขหรือแมว อันดับที่ 3 ของโลก รองจากเยอรมนี และสหรัฐฯ ในปี 2565 ไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นมูลค่า 2,460.73 ล้านเหรียญสหรัฐ (85,211.16 ล้านบาท) ขยายตัว
ร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกสำคัญ คือ (1) สหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 32.8 ของมูลค่าการส่งออก)(2) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 12.8) และ (3) อิตาลี (ร้อยละ 6.8) สำหรับจีน เป็นตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับที่ 10 มีมูลค่าการส่งออก 65.77 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,298.09 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ฉะนั้นตลาดอาหารสัตว์ของผู้ประกอบการไทยในจีนจึงเป็นโอกาสทอง และเป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำการบ้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ไทย ได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างจีน และปักหลักปักธงลงฐานที่มั่น สร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อครองตลาดแห่งนี้ให้ยาวนานที่สุดให้จงได้ …

ทีมข่าวรายงานพิเศษ “สำนักข่าวมหาชน”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *