ผลพวงจากวัคซีนโควิด-19 นำมาสู่การต่อยอดพัฒนา ‘วัคซีนรักษามะเร็ง’ โดยผู้เชี่ยวชาญ จากบ.โมเดอร์นา ประกาศอย่างมั่นใจว่าภายในปี 2030 โลกจะมีวัคซีนป้องกันโรคร้ายอย่างมะเร็ง หรือโรคหัวใจ อย่างแน่นอน!
ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) บริษัทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยี mRNA ได้ออกมาแสดงความมั่นใจว่า ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 โลกจะมีวัคซีนป้องกันโรคที่รักษายากอย่างเช่น มะเร็ง โรคหัวใจ และโรคภูมิแพ้ตัวเอง ออกมาพร้อมใช้งานอย่างแน่นอน โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สามารถช่วยชีวิตคนหลายล้านคนได้ด้วยชุดวัคซีนใหม่ที่ก้าวล้ำสำหรับสภาวะต่างๆ รวมถึงมะเร็ง
ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึง “คำมั่นสัญญาที่ยิ่งใหญ่” โดยนักวิจัยจากบ.โมเดอนา(Moderna) กล่าวว่า “ความพยายามคิดค้นมากว่า 15 ปี ถึงตอนนี้ต้องขอบคุณความสำเร็จที่มาจากการกระทุ้งของโควิด นำมาสู่การพัฒนาวัคซีนต้านมะเร็ง”
ดร. พอล เบอร์ตัน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของบริษัทยา Moderna กล่าวว่า เขาเชื่อว่าบริษัทจะสามารถนำเสนอการรักษาดังกล่าวสำหรับ “โรคทุกประเภท” ภายในเวลาอันใกล้นี้
“เราจะมีวัคซีนนั้นและมันจะมีประสิทธิภาพสูง ที่จะช่วยชีวิตผู้คนนับแสนหรือหลายล้านชีวิต ผมคิดว่าเราจะสามารถนำเสนอวัคซีนป้องกันมะเร็งเฉพาะบุคคลเพื่อต่อต้านเนื้องอกหลายชนิดแก่ผู้คนทั่วโลก”
เขายังกล่าวด้วยว่า การติดเชื้อทางเดินหายใจหลายระบบสามารถครอบคลุมได้ด้วยการฉีดเพียงครั้งเดียว ทำให้ผู้ที่อ่อนแอได้รับการป้องกันจากโควิด ไข้หวัดใหญ่ และไวรัสทางเดินหายใจ (RSV) ในขณะที่การรักษาด้วย mRNA อาจใช้ได้กับโรคหายากซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษา การบำบัดโดยใช้เทคโนโลยี mRNA ซึ่งทำงานโดยทำให้เซลล์เรียนรู้การสร้างโปรตีนที่กระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อโรคได้
“การบำบัดด้วย mRNA สำหรับโรคหายากที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถรักษาได้ แต่ภายใน 10 ปีนับจากนี้ เราจะเข้าใกล้โลกที่คุณสามารถระบุสาเหตุทางพันธุกรรมของโรคได้อย่างแท้จริง และนำไปแก้ไขซ่อมแซมโดยใช้เทคโนโลยี mRNA นี้”
สำหรับรูปแบบการทำงานเพื่อบำบัดรักษา มาจากการที่ ‘โมเลกุล mRNA สั่งให้เซลล์สร้างโปรตีน โดยการฉีดรูปแบบสังเคราะห์เซลล์ที่สามารถส่งโปรตีนที่เราต้องการไปในระบบภูมิคุ้มกันของเราเพื่อเข้าโจมตี โดยวัคซีนมะเร็งที่ใช้ mRNA จะแจ้งเตือนระบบภูมิคุ้มกันต่อเซลล์มะเร็งที่กำลังเติบโตในร่างกายของผู้ป่วย จากนั้นจึงเข้าโจมตีและทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง โดยจะไม่ทำลายเซลล์อื่นที่แข็งแรงในร่างกายเรา’
ขั้นแรก แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้องอกของผู้ป่วยและส่งไปยังห้องแล็บ ซึ่งสารพันธุกรรมของเนื้องอกจะได้รับการจัดลำดับเพื่อระบุการกลายพันธุ์ จากนั้นอัลกอริธึมการเรียนรู้ของเครื่องจะระบุว่าการกลายพันธุ์แบบใดที่เป็นตัวการผลักดันให้เกิดการเติบโตของมะเร็ง
ดร.เบอร์ตัน กล่าวว่า “ที่เคยคิดกันว่า mRNA เป็นเพียงการรักษาโรคติดเชื้อหรือแค่โควิด แต่ตอนนี้มันสามารถใช้ได้กับทุกขอบเขตของโรค ทั้งในกลุ่มโรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคแพ้ภูมิตัวเอง และโรคหายากอื่นๆ เรามีการศึกษาในทุกด้านและผลจากการศึกษาวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความหวังอันยิ่งใหญ่”
จากการทดลองขั้นสุดท้ายของวัคซีน mRNA เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โมเดอร์นาจึงประกาศว่า วัคซีน mRNA สำหรับ RSV บ่งชี้ว่ามีประสิทธิภาพ 83.7% ในการป้องกันโรคอย่างน้อย 2 อาการ คือ อาการไอและไข้ ในผู้ใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป และจากข้อมูลนี้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติให้เป็นวัคซีนเพื่อการรักษาแบบก้าวหน้า นั่นหมายความว่าจะมีการเร่งทบทวนกฎระเบียบเพื่อลดทอนกระบวนการที่จะนำมาใช้จริงให้สั้นลง ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ FDA ก็ได้อนุมัติให้วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคลของโมเดอร์นาเป็นวัคซีนเพื่อการรักษาก้าวหน้าเช่นกัน โดยพิจารณาจากผลลัพธ์ล่าสุดในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาที่ออกมาได้ผลดี
นี่จึงนับเป็นข่าวดีของโลกในการรักษาผู้ป่วยจากโรครักษายากต่างๆ โดยเฉพาะมะเร็ง ที่จะช่วยสร้างความหวังในการรักษาให้หายขาดจากโรคร้ายได้ในอนาคตอันใกล้นี้
เรียบเรียงข้อมูลจาก The Guardian